วันที่ 31 ต.ค.63 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในทุกด้านอย่างบูรณาการเพื่อเสริมศักยภาพให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และกลับมาเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีเพื่อลดภาระผู้ประกอบการ มีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้ดำเนินต่อไป ด้วยการพักชำระหนี้ ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินรวม 114,100 ล้านบาท เป้าหมายกลุ่ม SMEs ทั่วไป SMEs ท่องเที่ยว และSMEs รายย่อยและประชาชน และล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อใหม่ ?SMEs มีที่ มีเงิน? ให้ SME ใช้ที่ดินเป็นหลักประกันกู้เงินได้ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อธนาคารฯได้ เปิดให้กู้ถึง มิ.ย.ปีหน้า
ในด้านอื่น อีกไม่นานจะมีมาตรการปลดล็อคให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งวิธีคัดเลือกและวิธี E-Bidding ขณะนี้รอประกาศร่างกฎกระทรวงเพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ยังมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ตั้งเป้าปี 2564 จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME และผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 216,562 ราย ผ่านการให้การอบรมและให้คำปรึกษาเป็นรายกลุ่มตามความต้องการ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ เพราะนอกจากความพร้อมของเงินทุนและการผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้ว ศักยภาพด้านการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ กระทรวงฯ จึงได้เดินหน้าเรื่องการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการและการตลาดกับ SME ทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัทใหญ่ระดับโลกในการพัฒนาหลักสูตร ตั้งเป้าเบื้องต้นเป็นผู้ประกอบการ SME 1,000 แห่ง และหลักสูตรเฉพาะอีคอมเมิร์ซสำหรับคนรุ่นใหม่ 12,000 คน อีกทั้งได้กำหนดแผนส่งเสริมให้ SME ได้เข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ เป้าหมาย 10 - 15% ของผู้ประกอบการทั้งหมด พ่วงด้วย ธพว. ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสินค้า SME ขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee, LAZADA, Alibaba จาก เดือนเมษายน 2563 ที่มียอดการเข้ามาลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกว่า 2,800 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีกว่า 23,000 ราย
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแล SME เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและกระจายรายได้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ให้แก่ SME โดยตรง หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามผลลัพธ์ของมาตรการต่าง ๆ รับฟังเสียงจากภาคเอกชน และพร้อมจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการฟื้นตัวและเติบโตต่อไปของ SME
ที่มา: http://www.thaigov.go.th