วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กปช. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กปช. เข้าร่วม
ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2659-2564) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง ครม.มีมติให้ใช้ชื่อว่า "นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2553-2565 (ฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขาติ 20 ปี) ซึ่งได้กำหนดทิศทางการประชาสัมพันธ์ของประเทศ โดยมีคณะอนุกรรมการขัยเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการทบทวนนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2659-2564) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมี รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ เป็นประธาน
2. คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศ โดยมี นายวิบูลย์ คูสกุล เป็นประธาน
3. คณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐเพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยมี นายเกษมสันต์ วีระกุล เป็นประธาน
4. คณะอนุกรรมการพัฒนายุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ โดยมี รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา เป็นประธาน
ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้กำหนดเรื่องสื่อสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ 1) พัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน 2) สังคมปลอดภัย ไร้ความรุนแรง 3) มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้า การลงทุน 4) รับมือภัยแล้งและอุทกภัย 5) บริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 6) สังคมสูงวัย 7) ยุติธรรมเท่าเทียม 8) ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของสังคมไทย และเห็นชอบการกำหนดเรื่องสื่อสารที่สำคัญด้านต่างประเทศ จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ 1) ความพร้อมและศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทย 2) ศักยภาพด้านเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน 3) การท่องเที่ยววิถีใหม่ 4) อัตลักษณ์ไทย 5) มาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 6) ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และ 7 การดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน
รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าปัญหาของการสื่อสารในยุคปัจจุบัน คือ ข่าวลวง หรือ ข่าวปลอม ที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างเพื่อบ่อนทำลายประเทศชาติ จึงต้องมีการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์ กำหนดทิศทางการสื่อสารที่สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยอาศัยกลไกที่หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก และสื่อของรัฐ ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการเสนอโครงการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารและพัฒนาคลังข่าวอัจฉริยะ ที่ประมวลผลและวิเคราะห์โดยใช้ซอฟท์แวร์และโปรแกรมอัจฉริยะ (AI) ที่ถูกพัฒนาให้สามารถเปรียบเทียบ แยกแยะ จากระบบคลังข้อมูลข่าวสารความรู้อัจฉริยะเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมที่เกิดขึ้นใน Social media โดยจะมีการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้อีกครั้ง
-----------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th