วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563) เวลา 14.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม APEC CEO Dialogues ในหัวข้อ ?บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปค? (ASEAN?s Place in APEC?s Future)
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ ที่ยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง แม้ปีนี้สมาชิกเอเปคจะต้องเผชิญกับบททดสอบสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชีวิต ธุรกิจ การงาน และความเป็นอยู่ของประชาชนเสียหาย และแม้ว่า ปีนี้ ค.ศ. 2020 เป็นจุดสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์ และเอเปคจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโบกอร์ได้ทั้งหมดตามที่เราตั้งใจไว้ แต่เอเปคได้พัฒนามาไกลมากจากจุดเริ่มต้น และมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกรอบความร่วมมือใด
ประเทศไทย ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งกรอบเอเปคและอาเซียน ขอร่วมหาจุดร่วมที่ทั้งสองกรอบความร่วมมือจะส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ในวันนี้ เอเปคและอาเซียนมองไปที่จุดหมายเดียวกัน คือ การสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่เขตเศรษฐกิจใดเขตเศรษฐกิจหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจ โรคระบาด รวมทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เอเปคและอาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือที่ยืนหยัดผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้ และยังคงสถานะการเป็นกรอบความร่วมมือชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ในการมองไปข้างหน้าและการสร้างจิตวิญญาณความร่วมมือที่ตอบสนองต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางสาธารณสุข รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและสินค้าจำเป็น ทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องประชาชน ซึ่งต้องแลกมาด้วยการตัดขาดความเชื่อมโยง และความชะงักงันของการค้าและการลงทุนที่เป็นหัวใจของการเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง ทำให้ธุรกิจเกิดการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ และผลักให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาปากท้องและความยากจน ผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันในรูปแบบของพลังประชารัฐ (Public-Private-People Partnership: PPPP) เพื่อสร้างเอเชีย-แปซิฟิกใหม่ที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอเปคและอาเซียน สร้างความร่วมมือที่สอดคล้องและก้าวไปข้างหน้าโดยเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางดังนี้
หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และรับมือกับผลกระทบในระยะสั้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือและข้อริเริ่มต่าง ๆ ของเอเปคและอาเซียน โดยเสนอให้เชื่อมโยงข้อริเริ่มบางส่วนของกรอบทั้งสองเข้าด้วยกัน พร้อมอาศัยความเชื่อมั่นและแรงผลักดันจากภาคธุรกิจกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือเอแบค และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน หรืออาเซียนแบค จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ต้องเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลกกลับมาใหม่ ในบริบทของโลกหลังโควิด-19 ผมเห็นว่า เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การสร้างความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการสร้างความหลากหลายของห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งอาเซียนและประเทศไทยจะสามารถมีส่วนช่วยเติมเต็มให้กับความร่วมมือในเอเปคได้เป็นอย่างมาก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างสมาชิกอาเซียน กับประเทศคู่ภาคี 5 ประเทศ ส่งผลให้ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก
พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจจะต้องปรับกระบวนทัศน์เรื่องการเจริญเติบโตใหม่ ต้องสนับสนุนจุดแข็งให้เป็นจุดเด่นและมีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเสริมศักยภาพและบริหารจัดการกับจุดอ่อน ให้สามารถยืนหยัดและมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายใหม่ ๆ ภาคเอกชนต้อง ผ่านการปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ กลุ่มที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ MSMEs สตรี เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันเพื่อให้การสนับสนุนพวกเขาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างจุดแข็งสำคัญของไทย 2 ประการ ที่ช่วยให้ไทยประคองตัวในช่วงวิกฤติครั้งนี้ได้ ได้แก่ ภาคการเกษตรที่เข้มแข็งของไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่เสริมความเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสามารถมีผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก และระบบสาธารณสุขของไทยที่มีความพร้อมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยในการรับมือและป้องกันการระบาดของโควิด-19 มีรากฐานที่สำคัญมาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่ผู้นำเอเปคจะได้ร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะกำหนดทิศทางความร่วมมือต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า และในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ค.ศ. 2022 ไทยจะสานต่อประเด็นความร่วมมือที่สำคัญจากมาเลเซียและนิวซีแลนด์ และวาระการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทยเมื่อปี ค.ศ. 2019 และจะเชื่อมโยงการดำเนินการของเอเปคกับกรอบความร่วมมือระดับต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งอาเซียน ACMECS และ BIMSTEC ซึ่งไทยก็มีวาระจะเป็นประธานในปี ค.ศ. 2021 - 2022 รวมถึงจะร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนในกรอบเหล่านั้น ส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาซึ่งการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th