วันนี้ (วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563) เวลา 03.05 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบออนไลน์ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 31 ว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีและรู้สึกเป็นเกียรติ การจัดประชุมฯ เพื่อเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน ทั้งนี้ วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักได้ว่าประชาคมโลกจำเป็นต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยประชาชนควรได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศและประชาชนฟื้นตัวจากวิกฤติได้โดยเร็ว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการรับมือกับโควิด-19 โดยระบุว่า ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเพิ่มเติมความเห็นที่เป็นประโยชน์ ดังนี้
1.การสนับสนุนการดำเนินมาตรการป้องกันระดับพื้นฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รวมถึงการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะ อ.ส.ม. ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด
2.ความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโควิด-19 รวมถึงการผลักดันให้วัคซีนและยาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยินดีที่ได้มีส่วนร่วมโดยการมอบเงินผ่านองค์การอนามัยโลกเพื่อสนับสนุน
3.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ ให้คำปรึกษาการแพทย์ทางไกลแก่ชุมชน ซึ่งไทยได้ริเริ่มโครงการระบบวิถีใหม่ทางด้านสาธารณสุขไประยะหนึ่งแล้ว และจะขยายให้ครอบคลุมภายในปี 2564
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อผลักดันให้ 10 ปีข้างหน้าเป็นทศวรรษแห่งการลงมือปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อบรรลุ 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายด้านสาธารณสุข ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการยึดมั่นในระบบพหุภาคีและความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิก เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เช่นเดียวกับที่สมาชิกอาเซียนมีมาตรการที่เข้มแข็งในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ผ่านข้อริเริ่มต่าง ๆ ร่วมกัน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th