วันนี้ (25 ธ.ค.63) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 152) โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับมิติด้านพลังงาน โดยจะต้องร่วมกระบวนการรักษ์โลกสะอาด ทั้งในเรื่องพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนในอนาคตให้ได้มากที่สุด โดยต้องเร่งพิจารณาดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งในเรื่องพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และส่วนที่จะเกิดจากภาคการผลิต ซึ่งเรื่องพลังงานต้องปรับให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเรื่องการลดฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต โดยการทำงานต้องมองในภาพรวม ไม่มองงานเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว และต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ การทำงานด้านพลังงานทดแทน จะต้องปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ และของโลก โดยต้องไม่เป็นภาระของประชาชน ให้คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และรักษาเสถียรภาพให้ได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ทั้ง EEC SEC และ Smart City ดังนั้น การบริหารงานด้านพลังงานนอกจากการบริหารในภาพรวมแล้ว ควรมองแนวทางการบริหารเป็นรายภาค รายกลุ่มจังหวัด และจังหวัดด้วย เพราะแต่ละจังหวัดมีศักยภาพต่างกัน มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับการประกอบอาชีพของประชาชนเป็นหลัก
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้
1. ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาท/kWh* จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 MWp** ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 - 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย
2. ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/kWh แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 MWp กลุ่มโรงพยาบาล 20 MWp และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 MWp
หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย
ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 MWp จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท
- kWh: หมายถึง หน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilo watthour = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)
** MWp: หมายถึง เมกะวัตต์สูงสุดของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) ณ สภาวะทดสอบมาตรฐาน (Standard Test Condition)
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กพช.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th