โฆษก ศบค. แจง เพิ่มศูนย์ มท. ในศบค. คุมเข้มการแพร่ระบาด พร้อมห้ามการชุมนุมทุกพื้นที่ ลดความเสี่ยงในการแพร่/รับเชื้อไวรัสโควิด 19
วันนี้ (26 ธ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวัน ดังนี้
โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 110 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 64 รายเป็นผู้ติดเชื้อโดยการตรวจเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 30 ราย และเชื่อมโยงกับกรณีจังหวัดสมุทรสาคร ประมาณ60 ราย โดยยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนอีก 4 ราย มีผู้ที่อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 16 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศ 6,020 ราย แบ่งออกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,061 ราย และเป็นการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าว1,338 ราย หายป่วยแล้ว 4,152 ราย เพิ่มขึ้น 15 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 60 ราย โฆษก ศบค. ยืนยันว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อใน 33 จังหวัด ข้อมูลในส่วนของจังหวัดนครนายก และจังหวัดระยองยังคงรอรายงานการติดเชื้ออยู่โดยจังหวัดตากและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ
สถานการณ์ทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 80,207,155 คน เพิ่มขึ้นวันนี้ 472,443 คน เสียชีวิตสะสม 1,757,640 คนโดยไทยอยู่ในลำดับที่ 144 ของโลก
โฆษก ศบค. กล่าวถึงประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การเพิ่มศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย เพิ่มอีก 1 หน่วยงาน ทำให้มีหน่วยงานภายใต้การทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ (1) สำนักงานเลขาธิการ (2) ศปก. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (3) ศปก. ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (4) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (5) ศปก. มาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (6) ศปก. แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และ (7) ศปก. ด้านนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นต้น และได้มีข้อกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ควบคุมพื้นที่และสั่งการในระดับจังหวัดซึ่งสอดคล้องกับพรบ.โรคติดต่อ ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดทั่วประเทศยังห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมมั่วสุมในสถานที่แออัด เนื่องจากเป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค
โอกาสนี้ โฆษก ศบค. ยังยืนยันกรณีการตรวจ Rapid Test ของเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลที่พบผลเป็นบวกจำนวน 6 รายแต่เมื่อส่งตรวจ Swab พบผลเป็นลบว่า การตรวจ Rapid test เป็นการตรวจที่ใช้การเจาะเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไม่ใช่การตรวจหาเชื้อโควิด - 19 โดยตรง (RTPCR) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยตรวจภูมิคุ้มกันเบื้องต้นก่อน หากพบเป็นผลบวก จึงส่งตรวจหาเชื้อโดยตรงต่อไป ทั้งนี้ จำนวนละอองฝอยที่เกิดขึ้นจากการจาม ไอ พูดคุย มีขนาดใหญ่กว่าละอองฝอยที่เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการถ่ายเททางอากาศ เช่น วัณโรค ที่ต้องมีการควบคุมที่มากกว่า ยืนยันการสวมหน้ากากผ้านั้น สามารถป้องกันโควิด-19 ได้
..........................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th