วันนี้ (29 ธ.ค. 63) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายอิทธิพล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลกระทบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา ทำให้บุคลากรในทุกห่วงโซ่ต้องหยุดงานและขาดรายได้ งานประกาศผลรางวัลและงานอีเว้นท์ด้านสื่อบันเทิงต้องถูกระงับ โรงภาพยนตร์ไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ เป็นต้น ภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ประกอบการ แรงงาน ลูกจ้าง เช่น มาตรการ ?เราไม่ทิ้งกัน? มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างโดยสำนักงานประกันสังคม โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น รวมถึงการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยได้ หลังการผ่อนคลายมาตรการ มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 7 เรื่อง สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ 148.48 ล้านบาท และมาสำรวจสถานที่ถ่ายทำอีก 6 เรื่อง ซึ่งมีแผนถ่ายทำในปี 2564 คาดว่าจะทำรายได้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ในส่วนของภาคเอกชน ได้มี ?กองทุนเยียวยาโควิด-19? โดย บริษัท เน็ตฟลิกซ์ และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีแผนดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย
โอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับคณะทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมและซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศ โดยการนำคอนเทนท์เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยสอดแทรกในภาพยนตร์และสื่อต่าง ๆ เพื่อส่งออก เป็นการสร้างรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีการเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ อาทิ สร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในลักษณะ Single Agent ให้มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 10 - 20 ปี หาความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งเสริมการผลิต Soft Power ของทั้งเนื้อหาบริการต่าง ๆ ส่งเสริมการเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดกลุ่มประเทศเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่าประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันระดมในการทำคอนเทนต์หรือผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการใช้มิติวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยด้วย
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th