วันนี้ (29 ม.ค.64) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และผลการประชุม ศบค. ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 802 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 781 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 ราย) ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 17,023 ราย หายป่วยแล้ว 11,396 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย (15 ธ.ค.63 - 29 ม.ค. 64) มีผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,786 ราย (แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 4,458 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 7664 ราย และจากต่างประเทศ 664 ราย) โดยส่วนใหญ่พบที่จังหวัดสมุทรสาคร 98% ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1.2% และอื่น ๆ 0.8% โดยมีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมรวม 63 จังหวัด
โฆษก ศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. กล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ในการสนับสนุนทางด้านการแพทย์ให้กับกระทรวงสาธารณสุขและประชาชน พร้อมเน้นย้ำถึงผลสำรวจของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ประเทศออสเตรเลีย ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 98 ประเทศ โดยนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดอยู่ในอันดับที่ 1 รองลงมาคือเวียดนาม ไต้หวัน และไทยตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทย โดย ผอ.ศบค. ขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกันทำงานด้วยความเสียสละ อดทน อดกลั้น เพื่อประเทศชาติ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงโดยเร็ว พร้อมแสดงความห่วงใยถึงเด็กโดยเฉพาะเรื่องการเปิดสถานศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และเรื่องวัคซีนที่ต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ต้องมีการวางแผนกระจายวัคซีนให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าถึงวัคซีน โดยให้นำแผนมาเสนอในสัปดาห์หน้าเพื่อการพิจารณาเตรียมการต่อไป และนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำให้สื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับโควิด-19 ของทุกหน่วยงาน ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
1. ปิดสถานที่และเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ห้าง ฟิตเนส สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกมส์ ร้านเกมส์ ร้านอินเทอร์เน็ต การประชุมงานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดงานแสดงสินค้า สถานีขนส่งสาธารณะ
2. เปิดสถานที่ เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค มีดังนี้ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและกำกับการเว้นระยะห่าง ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. งดดื่มสุราในร้าน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น. ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงอายุ เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ สถานประกอบการ โรงแรม พร้อมกำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน
พื้นที่ควบคุมสูงสุด (4 จังหวัด - กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี) ยังคงไม่เปิดให้บริการผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง บ่อนการพนัน อาบอบนวด และงดการจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อนุญาตให้เปิดร้านนวด นวดแผนไทย สปา และฟิตเนส โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ในส่วนของร้านอาหาร เครื่องดื่ม สามารถนั่งรับประทานอาหารได้โดยจำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. และงดการดื่มสุราในร้าน อนุญาตให้มีการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม โดยให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้ง On site Online และ On air กรณีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน สามารถเปิดเรียนได้ปกติทุกพื้นที่ แต่จะต้องกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด การจัดประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง กำกับจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม ไม่เกิน 100 คน งดการดื่มสุราและการแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึง ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า จัดนิทรรศการ สามารถเปิดให้บริการตามเวลาปกติได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด สำหรับแรงงานต่างด้าว งดการเดินทาง เคลื่อนย้าย และจะต้องใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ หากมีกรณีจำเป็นจะต้องเคลื่อนย้าย เช่น แรงงานที่จะต้องทำการก่อสร้างต่างพื้นที่ จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจัหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
พื้นที่ควบคุม (20 จังหวัด - กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สิงห์บุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง) อนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะได้ แต่จำกัดการจำหน่ายสุราและนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. แสดงดนตรีได้ แต่งดการเต้นรำ ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานได้ แต่จำกัดเวลาการจำหน่ายสุราและการนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. เน้นย้ำให้รักษาระยะห่าง ไม่ดื่มแก้วเดียวกัน และจะต้องล้างมือบ่อย ๆ ในส่วนของการเรียนการสอนสามารถดำเนินการได้โดยปกติ การจัดประชุมสัมมนาจำกัดผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 300 คน และ ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ตามปกติ แต่จะต้องงดการส่งเสริมการขาย ที่ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นจำนวนมาก คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
พื้นที่เฝ้าระวังสูง (17 จังหวัด - กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร นครราชสีมา นครสวรรค์ นราธิวาส บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ ยะลา ระนอง สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานีอุทัยธานี) อนุญาตให้เปิดบริการฟิตเนส สปา ร้านนวด อาบอบนวด และอนุญาตให้ ผับ บาร์ คาราโอเกะสามารถเปิดได้ถึง 24.00 น. ร้านอาหารสามารถจำหน่ายสุราได้ไม่เกิน 24.00 น. คนไทยสามารถเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
พื้นที่เฝ้าระวัง (35 จังหวัด - กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคามมุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี) ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมเกือบทั้งหมด ดำเนินกิจการ/กิจกรรมได้เกือบปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก คนไทยเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการตรวจคัดกรอง ติดตามกำกับกรณีเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
โฆษก ศบค. กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ทันต่อการผ่อนคลายมาตรการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ต่อไป และย้ำให้ทุกคนมีวินัย ช่วยกันดูแล เพื่อให้คงอยู่ในมาตรการผ่อนคลายไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องการให้เกิดการระบาดขึ้นอีก เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีการผ่อนคลายการจัดการแข่งขันกีฬาภายใต้มาตรการป้องกันยับยั้งโควิด-19 โดยมีหลักการในการพิจารณาผ่อนคลายการจัดการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมระดับชาติและนานาชาติ ดังนี้
1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากต่างประเทศจะต้องกักตัว เป็นเวลา 14 วัน 2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 3. ผู้จัดกิจกรรมต้องสร้าง Bubble ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ 4. ทุกกิจกรรมยังไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชม และ 5. เน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 D-M-H-T-T
สำหรับกิจกรรมที่สมควรได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยลีก ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. - เม.ย. 64 การแข่งขันวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก ระหว่างวันที่ 13 ก.พ. - 11 พ.ย. 64 การแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย และประเภทนานานาชาติ ในเดือน ก.พ. - พ.ย. 64 การประกวด Miss Grand International 2020 ระหว่างวันที่ 1 - 28 มี.ค. 64 และ การแข่งขันกอล์ฟ LPGA พื้นที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 3 - 9 พ.ค. 64
อีกทั้งที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งพื้นที่ Organizational Quarantine (OQ) ในพื้นที่ 14 กองร้อย ตชด. เพื่อรองรับบุคคลที่ลักลอบเข้าประเทศ ได้แก่ อ. แม่สอด จ.ตาก จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.สงขลา จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว และ จ.หนองคาย ซึ่งสามารถรองรับได้กว่า 84,000 คน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวัคซีนได้ปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้เพิ่มความเข้มข้นสำหรับมาตรการค้นหาเคสผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น เข้าสุ่มตรวจ Anti-body ในพื้นที่ใหญ่ ที่มีโรงงาน หอพัก อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถ้าพบผลบวกจะทำการตรวจ PCR และนำผู้ติดเชื้อไปรักษาตัว กรณีที่หอพักและที่ทำงานไม่ได้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ให้มีการกำหนดเส้นทางที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการสัมผัสกับผู้อื่น และการตรวจในพื้นที่โรงงานขนาดเล็ก ให้มีการสุ่มตรวจทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แรงงาน และคนในพื้นที่ด้วย
--------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th