สภานโยบายฯ เล็งจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษา พอใจไทยมีสัดส่วนการลงทุน R&D มากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP เตรียมโปรโมท BCG Model ในการประชุม BIMSEC และ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday February 4, 2021 13:37 —สำนักโฆษก

สภานโยบายฯ เล็งจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษา พอใจไทยมีสัดส่วนการลงทุน R&D มากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP เตรียมโปรโมท BCG Model ในการประชุม BIMSEC และ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

วันนี้ (4 ก.พ. 64) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) โดยที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวนวงเงินทั้งสิ้น 117,880 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อที่จะนำเสนอแก่คณะรัฐมนตรีต่อไป

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงแก่สื่อมวลชน ย้ำโมเดลเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG Model มีความสำคัญซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นกระบวนทัศน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในด้านของอาหาร การเกษตร สุขอนามัยทางการแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเยาวชน ให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะมีการผลักดัน BCG Model ในเวทีระหว่างประเทศด้วยในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในระยะต่อไปด้วย อาทิ กรอบ BIMSEC และ APEC เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและพลเมืองโลก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังเน้นถึงบทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือการเร่งพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ในมหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองเป็นประเทศแรกในภูมิภาค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในตอนท้าย ขณะนี้การลงทุนด้าน R&D ของไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP และขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การลงทุนมีผลสัมฤทธิ์จากการใช้งบประมาณ และมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และสร้าง ?คน? ที่มีคุณภาพทั้งความรู้ รองรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อให้พัฒนาประเทศไทยต่อไป

...................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ