วันนี้ (17 ก.พ.64) เวลา 10.15 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กรณีกิจการหินและสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับผู้ประกอบการมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยจะทำสัญญากันแบบปีต่อปี ซึ่งในสัญญาได้ระบุเงื่อนไขการส่งมอบ การบอกเลิกสัญญา รวมถึงค่าปรับจากการขาดประโยชน์ไว้ ซึ่งในปีแรก ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญานับเป็นจำนวน 1 ล้านตันเศษ หรือคิดเป็นมูลค่าของการขาดประโยชน์เป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท กองทัพเรือจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้ชำระค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการได้ยินยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์จำนวนดังกล่าวในลักษณะผ่อนชำระ โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ผู้ประกอบการได้ชำระเงินงวดแรกจำนวน 5 ล้านบาท และได้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข สำหรับจำนวนที่เหลืออีก 35 ล้านบาทเศษ ได้ขอผ่อนชำระจำนวน 34 เดือน เดือนละ 1 ล้านบาทเศษ
ในส่วนของประเด็นของกองทัพเรือ นายกรัฐมนตรีเผยว่า แม้ผู้ประกอบการจะมีผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ผู้ประกอบการได้แสดงเจตนารมณ์ในเรื่องของการเพิ่มกำลังการผลิตให้เต็มประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการเพิ่มเครื่องจักรและเพิ่มกำลังการผลิตอื่น ๆ มีการสำรวจ ขยายเขต และขอเพิ่มปริมาณหิน ขอต่ออายุประทานบัตร ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรต่าง ๆ ค่าภาคหลวงแร่ และเงินกองทุนต่าง ๆ โดยใช้ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้เงินทุน ระยะเวลา ความต่อเนื่อง และมีหลายขั้นตอน รวมทั้งที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้พยายามปรับปรุงเหมืองและโรงโม่มาโดยตลอด จากสภาพเหมืองหินเดิมที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม และ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายศึกษาความแตกต่างของ พ.ร.บ. แร่ ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการอาจถูกสั่งปิดเหมืองและถูกถอนประทานบัตร ส่งผลกระทบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองทัพเรือ ในฐานะผู้ถือประทานบัตรและผู้ใช้ประโยชน์จากหินที่ผลิตได้อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างและขยายท่าเรือ สนามบินอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่า การทำสัญญาในปีที่ 2 ให้กับผู้ประกอบการ จะทำให้กองทัพเรือยังคงได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบหากต้องฟ้องร้องดำเนินคดี โดยในวันทำสัญญาปีที่ 2 ผู้ประกอบการได้ชำระหนี้งวดแรกจำนวน 5 ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ และในส่วนที่เหลือได้มีการผ่อนชำระมาโดยตลอด ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่มีการดำเนินการผิดเงื่อนไขในสัญญาเกิดขึ้นในระหว่างการผ่อนชำระ กองทัพเรือจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น ประมาณการว่า ผู้ประกอบการมีจำนวนทรัพย์สินและทุนที่ใช้ดำเนินการทำเหมืองหิน ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ เพียงพอในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับกองทัพเรือได้ จึงขอให้เข้าใจถึงการทำงานของกองทัพเรือที่ต้องดำเนินการในหลายขั้นตอนเพื่อพิจารณาแต่ละประเด็นให้ได้ประโยชน์สูงสุดด้วย ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th