วันนี้ (25 มีนาคม 2564) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน (H.E. Mrs. Evren Da?delen Akg?n) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี ตลอดระยะเวลาประจำการของเอกอัครราชทูตฯ และยินดีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีพลวัตเพิ่มมากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เชื่อมั่นว่า ไทยจะมีเอกอัครราชทูตฯ เป็น ?Friend of Thailand? เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนในตุรกี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในภารกิจที่จะได้รับมอบหมายในอนาคต และขอฝากความระลึกถึงนายเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี และภริยา ทั้งนี้ ไทยยินดีที่จะขับเคลื่อนและเดินหน้าความร่วมมือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และพร้อมขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกมิติ
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอมาและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในประเทศไทยเป็นประเทศแรก พร้อมยืนยันว่าจะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีของการทำงาน เอกอัครราชทูตฯ ได้รับประสบการณ์และความประทับใจผ่านเอกลักษณ์และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในช่วงสัปดาห์ของการครบรอบหนึ่งปีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซี่งได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจอันเป็นหนึ่งเดียวกันของคนไทย และในขณะเดียวกันได้เรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในอนาคตได้
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียน-ยุโรป-แอฟริกา ให้แก่กันได้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ตุรกีเชื่อมั่นว่าเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของอาเซียน
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นทวิภาคีต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว การศึกษาและวัฒนธรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น ในส่วนด้านการค้าการลงทุน การเห็นชอบจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอิซมีร์ และเมืองโบลู ด้านเศรษฐกิจ เป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศมีแนวทางที่จะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกีให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณภาคเอกชนตุรกีที่ลงทุนในไทย พร้อมเชิญชวนให้นักธุรกิจตุรกีขยายการลงทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทางตุรกีให้ความสนใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของเขต EEC ในขณะเดียวกัน ไทยยินดีสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในตุรกีในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ด้านการป้องกันประเทศ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะให้ความร่วมมือในระยะยาวผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยตุรกีพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันประเทศให้แก่ไทย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th