วันนี้ (16 เม.ย.64) เวลา 15.45 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เผย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย แต่ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ มั่นใจสามารถควบคุมการระบาดได้ ระยะที่ 3 มีสาเหตุมาจากสถานที่ท่องเที่ยวและการประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งไวรัสโควิด-19 สามารถที่จะแพร่ระบาดไปในทุกพื้นที่
นายกรัฐมนตรียังติดตามการประชุมของคณะทำงานตลอด 7 วันที่ผ่านมา ทั้งแนวทางในการวางแผน มาตรการการควบคุม การสกัดกั้นการแพร่ระบาด รวมไปถึงมาตรการจัดหาวัคซีนเละฉีดวัคซีนมาอย่างต่อเนื่องให้ประชาชน ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 5-6 แสนกว่าคน หลังจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมในจำนวนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้มีการวางแผนงานในการที่จะฉีดวัคซีน ให้ ทั่วถึง 60% ของประชากรตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ มาหารือร่วมกันเพื่อที่จะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากวัคซีนขณะนี้เป็นกรณีฉุกเฉินจะขายให้รัฐต่อรัฐเท่านั้น ซึ่งองค์การเภสัชกรรม จะเป็นผู้สั่งซื้อเพื่อนำมาแจกจ่าย หรือให้กับสมาคม โรงพยาบาลเอกชนต่อไป พร้อมเชิญชวนไปถึงแพทย์ และพยาบาลที่เกษียณอายุไปแล้ว ให้มารวมพลังกัน เพื่อฝึก ซ้อม ในการที่จะฉีดวัคซีนให้มากขึ้นในพื้นที่ทุกจังหวัดด้วย อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน โควิด-19 เป็นการเพิ่มภูมิต้านทาน จะไม่ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิดให้แก่บุคคลอื่น
นายกรัฐมนตรีเผยถึงแผนการจัดหาวัคซีนที่มีความก้าวหน้า ซึ่งได้ติดต่อซื้อวัคซีนสปุดนิคกับรัสเซีย ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกับ อย. ในส่วนการฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 1.3 ล้านโดสนั้น ได้สั่งการให้วางแผนเป็นรายสัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่ 1 จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และสายงานอื่นที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างทั่วถึงภายในพื้นที่ระบาดหนัก สัปดาห์ที่ 2 ฉีดให้ประชาชนในจังหวัดที่มีการระบาดหนัก และฉีดให้กับบุคลาการทางการแพทย์ และสายงานอื่นที่สัมผัสผู้ป่วยระยะปานกลาง สัปดาห์ที่ 3 ฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดที่มีการระบาดปานกลาง และฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และสายงานอื่นที่สัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการระบาดเบา และสัปดาห์ที่ 4 ฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดที่มีการระบาดเบา โดยทั้งหมดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
นายกรัฐมนตรียังยอมรับว่า ไม่สบายใจและหนักใจกับมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งอาจได้รับความเดือดร้อนมาก แต่จะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วจึงต้องมีการจัดการที่รวดเร็วด้วย ตั้งแต่ต้นทางกลางทาง และปลายทาง ตั้งแต่ต้น เพื่อลดความเสียหายในระยะที่ 3 ลงไปให้ได้มาก ซึ่งประชาชนกว่า 90% สวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยแต่ก็ขอให้เน้น Social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม
นายกรัฐมนตรีได้ยกคำกล่าวสุภาษิตโบราณที่ว่า ?ประเทศไทยต้องชนะ เมื่อถึงยามคับขัน ประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม ไม่พูดไร้สาระ ไม่พูดสิ่งที่ใดที่ไม่เป็นประโยชน์ บิดเบือน ยามมีข้าวมีน้ำ ก็ต้องการผู้เป็นที่รัก ยามเกิดปัญหาก็ต้องการบัณฑิต? โดยทุกคนควรนำสิ่งต่าง ๆ ในคำกล่าวนี้มาเป็นหลักนำในการดำรงชีวิตในช่วงนี้ ทุกคนจะต้องช่วยกัน เพราะประเทศไทยคือของทุกคน ทุกคนเป็นคนไทยขออย่ารังเกียจกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานี้ได้ระมัดระวังอย่างที่สุด เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวด เพราะรู้ว่าทุกคนเดือดร้อน ซึ่งชีวิตของนายกรัฐมนตรีให้กับคนไทยและประเทศไทยไปแล้ว จะทำงานให้เต็มที่จนกว่าจะทำไม่ได้ พร้อมย้ำว่าไม่มีการเคอร์ฟิว ยังไม่ล็อกดาวน์ การชุมนุมต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็ขอให้ระมัดระวัง และขอร้องทุกคนให้ช่วยกันเพื่อทำให้ประเทศชาติปลอดภัย เวลานี้ประเทศต้องการบัณฑิต ไม่ต้องการคนที่บ่อนทำลายซึ่งกันและกัน รวมทั้งขอขอบคุณสื่อทุกสื่อด้วย
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th