ศบค. ปรับ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน หวังคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2021 13:42 —สำนักโฆษก

ศบค. ปรับ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน หวังคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

วันนี้ (29 เมษายน 2564) เวลา 16.00 น. ณ โถงตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 0 เป็น 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 18 เป็น 45 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมจาก 59 เป็น 26 จังหวัด (สีส้ม) รวมทั้งให้ขยายระยะเวลากักตัวเป็น 14 วันทุกประเภท ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาการ Work from Home มาตรการขั้นสูงสุด อย่าน้อย 14 วัน

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ งดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น. ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน ปิดสนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ยังเปิดให้บริการได้แต่ไม่เกินเวลา 21.00 น. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. รวมทั้งขอความร่วมมืองดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และ จังหวัดและพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ยังสามารถจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและบริโภคในร้านได้จนถึงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะยังถือเป็นมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

โฆษก ศบค. ยังรายงานถึงแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมของวัคซีนร้อยละ 70 ภายในปี 2564 คิดเป็น 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส ต้องจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอหลักการจัดหาจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 ให้วัคซีนที่มีความหลากหลายทางชนิดและราคา ได้แก่ วัคซีน Pfizer Binotech จำนวน 5-20 ล้านโดส sputnik V จำนวน 5-10 ล้านโดส Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส และ Sinovac จำนวน 5-10 ล้านโดส หรือวัคซีนอื่น เช่น Moderna หรือ Sinopharm หรือ Bharat หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต

สำหรับการให้บริการวัคซีน โควิด-19 ทั่วประเทศนั้น จะมีจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลจำนวน 1,000 แห่งแห่งละ 50 - 1,000 โดสต่อวัน จะฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในระยะเวลา 4-7 เดือน (กันยายน-ธันวาคม 2564) ในส่วนกรุงเทพมหานครได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจุดให้บริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 100,000 โดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน = 3 ล้านโดสต่อเดือน จะได้รับเข็มที่ 1 ครบภายในระยะเวลาสามเดือน คือ มิถุนายน-สิงหาคม นี้

ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. ได้ขอความร่วมมือประชาชน ลดการเดินทาง ลดการพบปะ และ work from home ให้มาก จะเป็นการลดสาเหตุการติดเชื้อได้ ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติ หาก 14 วันหลังจากนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง การผ่อนคลายจะเกิดขึ้น ขอให้ร่วมด้วยช่วยกันในระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ