วันนี้ (5 พฤษภาคม 2564) เวลา 15.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและเป็นกลุ่มก้อนในหลายจังหวัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและได้สั่งการเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ ดังต่อไปนี้
การบริการจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย โดยให้มีการจัดระบบการบูรณาการเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามระดับอาการ เป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับสีเขียว คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม, ระดับสีเหลือง คือ ผู้ป่วยอาการปานกลาง จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป ระดับสีแดง คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง และให้ปรับรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วย ให้คัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น พร้อมมีการเพิ่มเติมผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 / 1669 / และ 1330 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อรอส่งไปรักษาตัวต่อไป พร้อมกันนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุข กทม. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้สามารถติดต่อและจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงตกค้างทั้งหมด เข้าสู่ระบบการรักษาตามที่แบ่งไว้ 3 กลุ่ม โดยปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อ ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถแยกตัวผู้ป่วยออกมาจากชุมชนได้ทันที นับจากวันจัดตั้งสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รับเข้ามาไปแล้วถึงร้อยละ 96 จากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพอีกด้วย
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของสายด่วนเพื่อรับตัวผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยทุกคนเข้ารับการรักษาได้อย่างทันการ และการเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วย ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทุกองค์กรจิตอาสา ที่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันจนสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 เพียงพอ แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยยังคงมีเหลือในสต็อก 1.5 ล้านเม็ด และให้กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขยังได้พิจารณา ศึกษา เพื่อจัดหายาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และพิจารณาแนวทางถึงการจ่ายยาเพิ่มเติมนอกเหนือจากภายหลังการติดเชื้อด้วย ซึ่งตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 7 หมื่นคน และรักษาหายกลับบ้านแล้วมากกว่า 4 หมื่นคน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสามารถของทีมแพทย์ไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด-19 โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทุกรายการด้วย
นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการจัดหาและการฉีดวัคซีนว่า ได้กำหนดให้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายให้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดสนี้เป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จะผลิตในประเทศไทยและจะเริ่มส่งมอบในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้ทันทีจำนวน 16 ล้านคน และในเดือนพฤษภาคม จะได้รับวัคซีน ซิโนแวคมาเพิ่มเติมจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าและผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5 - 20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิก วี วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5 - 10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยรัฐบาลมีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ขณะนี้มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุข ทั่วประเทศ โดยใช้แผนบริการการฉีดวัคซีนตามหลักการสาธารณสุขและการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เร่งด่วนและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ?ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้? นายกรัฐมนตรีกล่าว
..................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th