วันนี้ (11 พฤษภาคม 2564) เวลา 12.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ด้วยยุทธวิธี คือ ระดมตรวจเชิงรุกให้มากที่สุดในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในพื้นที่ชุมชนที่มีความเสี่ยง ได้มีการตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่า 70,000 ราย เฉลี่ย 7,000 รายต่อวัน ทำให้สามารถระบุตัวผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อคัดแยกไปรักษาได้อย่างทันการ รวมทั้งแยกผู้มีความเสี่ยงจากการใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อไปกักตัวสังเกตอาการ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อต่อในวงกว้าง จำกัดวงการแพร่ระบาดให้แคบและสั้นที่สุด ดังนั้น ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมียอดผู้ป่วยติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการตรวจเชิงรุกแบบปูพรม อย่างไรก็ตาม ทีมบุคลากรทางการแพทย์เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ควบคุมสถานกรณ์ได้ในไม่ช้า และยอดผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่จะลดลง แม้ว่าขณะนี้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อในกรุงเทพมหานครจะมีแนวโน้มลดลงแต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ยังคงต้องมีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เพิ่มขึ้นและรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรียังย้ำให้เร่งระดมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการตัดวงจรสะเก็ดไฟ ปัจจุบันมีการเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่คลองเตยแล้ว 13,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 ของเป้าหมาย ที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้ 50,000 ราย ในพื้นที่ปทุมวันมีการฉีดวัคซีนแล้ว 14,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของเป้าหมาย โดยเฉลี่ยแล้วทั้ง 2 พื้นที่มีการฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 2,000 คน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดคลัสเตอร์คลองเตย จะเป็นแนวทาง Sandbox ในการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับกระทบจากมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ติดตามประเมินสถานการณ์วันต่อวัน ปิดกั้นการลักลอบเข้าประเทศอย่างสูงสุด หากจังหวัดใดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง ที่มีการปิดสถานที่และมีข้อจำกัดต่าง ๆ หากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้ว ให้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาทำมาค้าขาย เดินทางท่องเที่ยว ได้ โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อรักษาสมดุลทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจที่จะต้องเดินหน้าไปควบคู่กัน
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าที่ผ่านยังได้มีการระดมเร่งฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2 ล้านโดสตามจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ เฉลี่ยวันละหลายหมื่นโดส และจากมาตรการจัดหาวัคซีนฉุกเฉินของรัฐบาลทำให้มีวัคซีนเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมอีก 3.5 ล้านโดส โดยยังมีวัคซีนที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาอีกและจะทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอีกด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนได้อย่างแน่นอน และจะมีการจัดหาเพิ่มเติมเพื่อสำรองใช้สำหรับความปลอดภัยของประชาชนคนไทยทุกคน โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน AstraZeneca โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่ได้มาตรฐานสูง ผ่านการรับรองคุณภาพจากทั่วโลก ซึ่งจะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ในระยะยาว เพื่อสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอีกด้วย
........................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th