วันนี้ (14 พฤษภาคม 2564) เวลา 11.15 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางคริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Mrs. Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย โดยภายหลังการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่หารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาอีกครั้ง หลังจากเคยพบปะกันเมื่อครั้งนางคริสทีเนอดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งการกลับมาไทยครั้งนี้ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของนางคริสทีเนอจนได้รับความไว้วางใจจากสหประชาชาติให้ดูแลในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา โดยประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากอาเซียนและประชาคมโลก ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน ไทยให้ความสำคัญกับแนวทาง D4D ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอต่อที่ประชุม และพร้อมสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ของอาเซียน ทั้งนี้ ไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด มุ่งหวังให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา หวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการเยือนครั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์
ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมารู้สึกยินดีที่ได้กลับมาเยือนไทยและหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า การมาเยือนไทยและภูมิภาคอาเซียนครั้งนี้ เพื่อหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยจากการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย จึงประสงค์ที่จะสานต่อกระบวนการเจรจาดังกล่าวต่อไปเพื่อนำความสงบสุขกับมาสู่เมียนมาอีกครั้ง หวังว่าไทยจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว และแสวงหาความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาในการหาทางออกอย่างสันติ
ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยดำเนินการทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไทยมีประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนบ้านมายาวนาน มีการติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนอย่างใกล้ชิด และเตรียมการวางแผนรับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจะไม่มีการส่งผู้หนีภัยกลับไปเมียนมาหากต้องเผชิญกับอันตราย โดยมีการตั้งศูนย์เพื่อรองรับผู้หนีภัยหลายแห่งตามแนวชายแดน รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่บาดเจ็บ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ สำหรับภารกิจเดินทางเยือนไทยและภูมิภาคครั้งนี้ พร้อมหวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในภูมิภาค
ที่มา: http://www.thaigov.go.th