วันนี้ (16 มิถุนายน 2564) เวลา 14.30 น. (หรือ 03.30 น. เวลาท้องถิ่น นครนิวยอร์ค) ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมกล่าวปาฐกถาในการเปิดประชุม United Nations Global Compact Leaders Summit ภายใต้หัวข้อ ?Commemoration of the tenth Anniversary of the UN Guiding Principles on Business and Human Rights? ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 10 ปี ของการยอมรับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในหลายประการ ในส่วนประเด็นเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนถือเป็นวาระแห่งชาติที่ไทยให้ความสำคัญ ไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจต่อไปตามแนวทางของ UNGPs หลักการในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (RBC) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติ 4 ปี ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ NAP และ UNGP ว่า ในปัจจุบันมีการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่ว่าจ้างผู้ต้องขังที่เคยถูกจองจำ เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำและส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่งและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน-ด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines-Responsible Lending) เพื่อยืนยันว่าการดำเนินงานของธนาคารทั้งหมดจะต้องดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยตระหนักถึงการจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน และจะต้องทำให้แน่ใจว่าธุรกิจต่าง ๆ เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในช่วงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งบรรเทาผลกระทบจาก COVID ? 19 นี้
ในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้เห็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวปฏิบัติในการดำเนินการของ UNGPs และขอสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับ UNGC ด้วยแนวทางที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยในการดำเนินงานของ UNGPs พร้อมได้ยืนยันว่าไทยพร้อมทำงานร่วมกับสหประชาชาติ Global Compact และพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th