วันนี้ (16 กรกฎาคม 2564) เวลา 18.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (APEC Informal Leaders? Retreat) ร่วมกับผู้นำและผู้แทนจากอีก 20 เขตเศรษฐกิจ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพในปี 2564 นี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยน และแบ่งปันความคิดเห็นต่อคำถามว่าเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะร่วมมือกันได้อย่างไร เพื่อก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน และจะสามารถเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
การเข้าถึงและการกระจายวัคซีนที่ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม และรวดเร็ว ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไทยยินดีขยายความร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงจึงมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นการตอกย้ำให้ต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตและขยายฐานการผลิตวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยประเทศไทยมีทีมแพทย์และนักวิจัยไทยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนฯ ภายในประเทศชนิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งบางโครงการมีความก้าวหน้าถึงขั้นตอนของการทดลองในมนุษย์แล้ว
ประการที่สอง การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อดำรงชีวิตอยู่กับไวรัสในระดับที่ควบคุมได้เพื่อสามารถกลับไปสู่สถานการณ์ปกติได้แบบ new normal เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ไทยจึงได้เริ่มเปิดให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนใน โครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสำหรับในระยะยาว ไทยเชื่อถือในการมีแนวปฏิบัติด้านการเดินทางร่วมกัน และการยอมรับร่วมกันของเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนที่ WHO รับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ จึงสนับสนุนให้เอเปคพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ประการที่สาม มาตรการช่วยเหลือทางธุรกิจ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรเน้นผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพเป็นอันดับแรก เพราะเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาค แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ? 19 มากที่สุด จึงควรสนับสนุนกลุ่มนี้ผ่านข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจในภายใต้สถานการณ์แบบ new normal เพื่อจะได้พร้อมรับมือกับแรงกระแทก และวิกฤตในอนาคต
ประการสุดท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการมีแนวคิดในการพัฒนาแบบใหม่ การประกอบธุรกิจ และดำเนินเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงความพอดี (just right) หรือความสมดุล (balance) ซึ่งไทยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model โดยมีหัวใจคือความสมดุลทุกหน่วยเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่รุนแรง ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกเขตเศรษฐกิจร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืน
อนึ่ง ในการประชุมฯ ครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมร่วมกัน โดยเอกสารผลลัพธ์นี้เน้นที่การรับมือทางสุขภาพและเศรษฐกิจ ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม ระบบสาธารณสุขควรยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับแรงกระแทกในปัจจุบันและอนาคต กำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเกื้อหนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเน้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 2. นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ใช้นวัตกรรมที่ช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาเข้มแข็ง มีศักยภาพ และโอกาสที่มากขึ้น มุ่งหน้าสู่อนาคตดิจิทัล และ 3. การค้าการลงทุน เน้นย้ำบทบาทการค้าการลงทุน แลเสริมสร้างการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยตั้งมั่นว่า ในปี 2564 นี้ องค์การการค้าโลกจะมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นฟูวิกฤตทางสุขภาพและเศรษฐกิจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th