นายกฯ ชี้แจงการใช้งบประมาณกลางเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีการนำไปใช้เพิ่มเติมในส่วนอื่น ยืนยันดูแลทุกกลุ่มและใช้วิธีการบริหารงบประมาณให้ดีที่สุด

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2021 13:19 —สำนักโฆษก

นายกฯ ชี้แจงการใช้งบประมาณกลาง เพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีการนำไปใช้เพิ่มเติมในส่วนอื่น ยืนยันดูแลทุกกลุ่มและใช้วิธีการบริหารงบประมาณให้ดีที่สุด

วันนี้ (31 ส.ค.64) เวลา 13.48 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงการใช้งบประมาณกลางนั้นเป็นไปเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีการนำไปใช้เพิ่มเติมในส่วนอื่น ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีกล่าวการจัดทำงบประมาณมี 3 รูปแบบ คือ งบประมาณแบบขาดดุล งบประมาณแบบสมดุล และงบประมาณเกินดุล ในปีนี้การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล งบกลางในปีนี้ แม้จะมีจำนวนสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ เพื่อใช้ขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้เกิดการจับจ่ายภายในประเทศให้ได้มากที่สุด การลงทุนและดูแลกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งต้องให้มีการลงทุนของต่างประเทศด้วย โดยคาดหวังอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น การเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบของสำนักงบประมาณ มีการตรวจสอบทุกประการ ขณะที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมมีสัดส่วน 7.2% ของงบประมาณทั้งหมด เมื่อเทียบสัดส่วนกับ GDP ในกลุ่มประเทศอาเซียน การใช้งบฯ กลาโหมของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหลายประเทศ การจัดซื้อยุทธโปกรณ์เป็นไปตามความจำเป็น ทดแทนของเก่าที่ไม่สามารถซ่อมแซ่มได้แล้ว เพื่อปกป้องดูแลรักษาความปลอดภัยกองกำลังที่ปฏิบัติตามแนวชายแดนต่าง ๆ ทหารยังทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่น การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ดูแลแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน ช่วยภัยแล้งและน้ำท่วม

2. นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสถานะทางการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับดีซึ่งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังประเมินความเข้มแข็งของประเทศไทยขีดความสามารถทางการเงินการคลังอยู่ในระดับ 3 b+ เช่นเดิม ประเทศไทยยังมีความเชื่อมั่นในเวทีโลกและระดับสากล ทั้งนี้ รัฐบาลมีแต่หนี้ที่ทำให้เกิดมูลค่าเพื่ออนาคต เช่น การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สร้างรายได้กับประชาชนในอนาคต สำหรับหนี้ กยศ. หนี้ครัวเรือน อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการแก้หนี้ ที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์หลายสิบล้านบัญชี รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนของธนาคารต่าง ๆ และรัฐบาลยังมีการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยใช้งบประมาณกว่าแสนล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนและดูแลกลุ่มเกษตรกรของประเทศ รัฐบาลคาดการณ์รายได้ประเทศใน 5 ปีข้างหน้าด้วยการวางยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่ EEC นิคมอุตสาหกรรมใหม่ ได้รับการสนับสนุนจาก BOI มากยิ่งขึ้น

3. นายกรัฐมนตรี ยืนยันการใช้จ่ายเงินหรือการกู้เงินต่าง ๆ การดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะใช้จ่ายกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 รวมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายตามมาตรการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมประชาชน 30 - 40 ล้านกว่าคนได้รับประโยชน์ตรงนี้ไป โดยเน้นดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ตลอดจนผู้ค้าปลีกรายย่อยต่าง ๆ ด้วย ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ลงไปมีการเอื้อประโยชน์เรื่องเงินทอน ขอให้หาข้อมูลมายืนยัน รัฐบาลยินยอมให้ตรวจสอบ

4. กรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนายกรัฐมนตรีถึง Work From Home ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากมีคนใกล้ชิดติดโควิด หมอสั่งให้ทำงานที่บ้าน 14 วัน ทั้งนี้ โลกสมัยใหม่ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยได้มีการทำงานประชุมระบบทางไกลจากทำเนียบรัฐบาลเกือบทุกวัน และเมื่อมีโอกาสก็ตรวจเยี่ยมการทำงานของหน่วยต่าง ๆ

5. นายกรัฐมนตรียังได้ฝากขอให้ทุกคนช่วยกันอย่าทำให้บ้านเมืองเสียหาย ทุก ๆ อย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ผู้แทนราษฎรทุกคนในรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และอัยการ ศาล เป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถก้าวล่วงได้ กรณีการควบคุมการชุมนุม ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการให้ใช้อาวุธจริงกับประชาชน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ