วันนี้ (31 ส.ค.64) เวลา 18.45 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจง ดังนี้
1. การปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้แบ่งเป็นสองประเด็นหลัก คือ 1) จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุตามขั้นตอนรับมือโรคระบาด ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น เริ่มจากการตั้งศูนย์บริการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้สามารถรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากได้ 2) กำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่ทางแพทย์ สาธารณสุขได้พิจารณาร่วมกันทั้งการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มเสี่ยง จัดระบบการคัดกรองอย่างเข้มงวด การสุ่มตรวจเชิงรุก กักกันผู้ป่วย สอบสวนและควบคุมโรค ยกระดับโรงพยาบาลสนามเพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง งดการเดินทางข้ามพื้นที่ การห้ามออกนอกเคหะสถานและการปิดประเทศ เพื่อควบคุมยอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อให้ได้มากที่สุด รวมถึงการใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการ ทำให้ผลของมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าระบบสาธารณสุขไม่ได้ล้มเหลว ทุกการพิจารณาได้รับข้อแนะนำจากที่ปรึกษาทางคณะแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขทั้งหมด
2. กรณีชุดตรวจ ATK ปัจจุบันเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ขายจำหน่ายได้ มีราคาแตกต่างกัน ยี่ห้อแตกต่างกัน และจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในวงกว้างจนไม่สามารถตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ได้อย่างครอบคลุม รัฐบาลจึงมีนโยบายจัดหา ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ขอยืนยันไม่เคยมีข้อสั่งการให้ซื้อชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการประชุม ศบค. เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีชุดตรวจยี่ห้อใดผ่านการรับรอง มีแต่ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้เฉพาะเท่านั้น
3. การจัดหาวัคซีน รัฐบาลไม่ปิดกั้นให้ภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและต้องมีตัวแทนของบริษัทในประเทศไทย รัฐบาลยังจะมีการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยืนยันว่าจะสามารถจัดหาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ครบจำนวน 61 ล้านโดส และจะสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนที่สามารถผลิตได้ในประเทศด้วย กรณี COVAX รัฐบาลพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดก่อนเพื่อการวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ในระยะที่ 2 สามารถดำเนินการร่วมกับ COVAX ได้เพราะว่ามีการปลดล็อกต่าง ๆ หากไทยมีวัคซีนมากเกินพอก็พร้อมดูแลอาเซียนประเทศเพื่อนบ้านด้วย
4. ด้านเศรษฐกิจ หลายประเทศก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว Asia Pacific ลดลง 95% อเมริกาลดลง 72% แอฟฟริกาลดลง 81% ตะวันออกกลาง 83% ยุโรป 85% เป็นต้น รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่แก้ไขได้ในอนาคต แม้จะหดตัวเช่นเดียวกับหลายประเทศ เช่น สเปน ญี่ปุ่น มาเก๊า เป็นต้น แต่ไทยมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อ GDP สูงที่สุด อันดับที่ 2 รวมถึงการคาดการณ์ IMF ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565 ไทยจะกลับมาเติบโตรองจากมาเก๊า เศรษฐกิจไทยไม่ใช่ไม่ฟื้น เพียงแต่ฟื้นตัวช้า ในส่วนของการเปิดประเทศขณะนี้เปิดแล้ว เช่น Phuket Sandbox และโครงการต่อเนื่อง และจะเปิดขยายเพิ่มขึ้นถ้าสถานการณ์ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลดำเนินการโดยใช้ข้อมูลทางด้านวิชาการและสถิติประกอบการทำงานและการตัดสินใจ โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลดีผลเสียอยู่เสมอ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของ ศบค. มาจากการพิจารณาข้อมูลหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนออกเป็นมาตรการต่าง ๆ สู่การปฏิบัติ รวมทั้งการเตรียมมาตรการรองรับให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ ทั้งงบกลางและงบเงินกู้ต่าง ๆ เป็นต้น ยืนยันการดำเนินการของรัฐบาลทุกอย่างไม่มีเจตนาทุจริต เชื่อมั่นว่าตนไม่ได้มีเจตนาทุจริตและไม่คุ้นเคยกับการทุจริต
ที่มา: http://www.thaigov.go.th