นายกรัฐมนตรีชี้แจงประเด็นการแก้ไขปัญหาโควิด – 19 ที่รัฐทำสำเร็จ แนวทางอนาคตที่รัฐบาลเตรียมไว้ ย้ำรัฐบาลพร้อมรับฟังปรับแก้ไข เปรียบโควิดเหมือนคลื่นพายุ มั่นใจฟ้าหลังฝนย่อมสดใส

ข่าวทั่วไป Friday September 3, 2021 14:37 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีชี้แจงประเด็นการแก้ไขปัญหาโควิด ? 19 ที่รัฐทำสำเร็จ แนวทางอนาคตที่รัฐบาลเตรียมไว้ ย้ำรัฐบาลพร้อมรับฟังปรับแก้ไข เปรียบโควิดเหมือนคลื่นพายุ มั่นใจฟ้าหลังฝนย่อมสดใส

วันนี้ (3 ก.ย. 64) เวลา 17.59 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีได้เปิดคลิปประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นเรื่องดีดีที่ได้รับจากประชาชน อะไรที่เป็นปัญหารัฐบาลพร้อมที่จะปรับแก้ไข จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โควิดก็เหมือนคลื่นพายุที่พัดผ่านแต่ละพื้นที่ด้วยขนาดของคลื่นลมที่แตกต่างกัน แพร่กระจายส่งผลไปทั่วโลก และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด ประเทศไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่แรกๆ จากคลื่นเล็ก และคลื่นใหญ่ แต่ยังไม่ใช่คลื่นยักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก ยืนยันแม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่รับมือได้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่แย่ที่สุด รัฐบาลทำเต็มกำลังของทุกฝ่าย ทั้งจากสาธารณสุข ความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้า ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ ขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือกันฝ่าวิกฤติ

2. ต่อคำกล่าวหาว่ารัฐบาลค้าความตายจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด -19 ถือว่าไม่เป็นธรรม ขอให้พิจารณาด้วยใจเป็นธรรมว่าอัตราการหายป่วยของไทยมากกว่า 85 เปอร์เซนต์ ต่อผู้ติดเชื้อในประเทศ มีผู้ป่วยสะสม 1.23 ล้านคน ซึ่งหายป่วยแล้ว 1.05 ล้านคน เป็นผลจากความเสียสละร่วมมือทุ่มเท ของบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยสนับสนุนทั้งประเทศ ด้วยความร่วมมือ วัคซีน การบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล การปรับมาตรการ ภาคเอกชน ธุรกิจ จิตอาสา ที่รักษาชีวิตผู้ติดเชื้อได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยโลกถึง 2 เท่า อัตราการเสียชีวิตโลก 2.08 เปอร์เซนต์ ของไทย 0.96 เปอร์เซนต์และมากกว่าหลายประเทศมหาอำนาจที่มีเขตเศรษฐกิจ ทรัพยากรมากกว่าไทย การคุมโรคที่สมดุลนั้น ไม่ใช่กำจัดโรคนี้ไป เพราะโรคนี้สุดท้ายจะเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนจะเป็นการลดการติดเชื้อรุนแรง แต่ไม่ได้ทำให้เชื้อโรคหายไป ซึ่งเราต้องเตรียมการในอนาคตต่อไป

3. เราต้อง คิดและมองไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องปรับตัวต้องมองหาแนวทางใหม่ ในการ ?ก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน? หมายถึง เราจำเป็นต้องมีแนวทาง ?การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19? (Smart control and living with Covid-19) ซึ่งมีมาตรการสำคัญ 10 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) ที่เป็นมาตรการพื้นฐาน ให้เป็นการ Universal Prevention ซึ่งเป็นการสร้างพฤติกรรม การระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด โดยคิดเสมือนว่า ?ทุกคน? ที่พบปะนั้น มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อ แล้วทุกคนก็จะปลอดภัย สังคมก็จะปลอดเชื้อ

4. รัฐบาลเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มาตรการรักษาการจ้างงานเพื่อรองรับคนว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ให้มีรายได้ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกมาตรการและโครงการมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และหากใครที่ยังเข้าไม่ถึงก็พิจารณาต่อไป โดยต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว หัวใจสำคัญคือการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม โดยการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยกันชี้แจง การให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการต่างๆ กับประชาชนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เช่น ยกระดับสวัสดิการพื้นฐานที่อยู่อาศัย ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนฟรี มุ่งดูแลเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อยและหนี้สินของประชาชนรายย่อยกลุ่มต่างๆ เช่น หนี้ กยศ. หนี้สินครู หนี้บัตรเครดิต หนี้จำนำ สินเชื่อส่วนบุคคลเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2564 นับเป็นปีของความท้าทาย เนื่องจากเป็นปีที่ต้องประคับประคองเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หวังว่าทุกคนควรจะใช้เวลาช่วงนี้เป็นโอกาสในการเดินหน้าประเทศไทย รวมไทยสร้างชาติ เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในระยะที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 5. ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อจากนี้

1. การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภูมิภาค โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐขยายตัวเฉลี่ย 7.9% ต่อปี ครอบคลุมถึงการขยายถนน ระบบราง สนามบิน ท่าเรือ ระบบพลังงานจากไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ มุ่งพัฒนาพื้นที่ EEC รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค 2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวาระของโลก โดยเน้นนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน หรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonisation) มีรถพลังงานไฟฟ้า EV 30% ในปี 2573 ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทน 50% ผลักดัน BCG Model ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม ปลูกป่าจาก 31.8% เป็น 40% ในปี 2579

3. อุตสาหกรรมเดิมต้องเข้มแข็งขึ้น โดยการต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป เกษตร BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรคุณภาพสูงด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ศูนย์กลางทางการแพทย์ ดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รับสังคมสูงวัย ศูนย์กลางขนส่งและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มีรายจ่ายต่อหัวสูงขึ้น เป็นต้น

4. อุตสากกรรมใหม่แห่งอนาคต ที่เน้นการเสริมสร้างอุตสากรรมใหม่ที่สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเป็น ศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค, การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น แอพพลิเคชั่น ?เป๋าตังค์? ที่เป็นE-payment, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและยานยนต์ไฟฟ้า อุตสหากรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวิภาพ และพลาสติกชีวภาพ

5. การสร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs โดยรัฐบาลมีแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐาน ?การพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่? เพื่อสร้างโอกาสด้านต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการเข้าถึงโอกาสทางการเงิน การเข้าถึงตลาด และเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยคาดว่า จะสร้างมูลค่า 42 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP และสร้างการจ้างงาน 12 ล้านคน

6.การปฏิรูปและพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐ โดยเน้นเสริมศักยภาพ สร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น EASE of Doing Business ให้อยู่ในอันดับ 10 ของโลก ในระหว่างปี พ.ศ.2565-2566 และส่วนราชการยกระดับงานบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา

6. สามวันที่ผ่านมารัฐบาลยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น จะไปปรับปรุง แก้ไข เพื่อลดจุดอ่อนในการทำงาน ที่อาจจะยังมีอยู่ นายกรัฐมนตรียินดีรับฟังเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานเพื่อคนไทยทุกคน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ พร้อมๆ กับชาวโลก จะร่วมมือกับทุกฝ่าย ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อนำพาประเทศไทยของเรา ก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่คาดหวัง อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เชื่อว่าฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสเสมอแม้จะไม่รู้ว่าวิกฤตโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ความหวังจะเป็นพลังสำคัญให้เราก้าวข้ามความยากลำบากในวันนี้ พร้อมกับความรัก ความสามัคคีของคนในชาติจะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่จุดหมายร่วมกันโดยสวัสดิภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ