บอร์ด กพช. เห็นชอบกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2021 13:55 —สำนักโฆษก

กพช. เห็นชอบกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี บรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้ (5 พ.ย.64) เวลา 14.00 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลวางนโยบายอย่างเป็นขั้นตอนเกี่ยวกับมิติการใช้พลังงานสะอาดและการลดก๊าซเรือนกระจกที่ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีโลกในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่สก็อตแลนที่ผ่านมา ร่วมกับนานาขาติ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมพร้อมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย และให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้พลังงานสะอาดตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของโลก ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านพลังงานต่าง ๆ ต้องมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่มีการผูกขาด สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบกับการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนซ้า และน้ำมันเตาในอัตราตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพราะเป็นความจำเป็นในการลดภาระและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้ กกพ. ให้เร่งดำเนินการเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้เกิดผลโดยเร็ว เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าจากขยะถือเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่จะนำไปสู่การลดโลกร้อน และยังสามารถแก้ปัญหาบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยต้องคำนึงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย พร้อมให้กระทรวงมหาดไทยและกกพ. ได้จัดตั้งกลไกดำเนินงานร่วมกันในการพิจารณากลั่นกรองโครงการโรงไฟฟ้าขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำหนด TOR ให้มีความชัดเจนมีความโปร่งใสเพื่อไม่เกิดข้อขัดแข้งตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

1) ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท

2) ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD., จากสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคา LNG โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 - 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 - 5,000 ล้านบาทในปี 2565 - 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย และกพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.ฯ เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป

3) เห็นชอบบรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

4) เห็นชอบอัตรา ค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด แล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว นั้น สอดคล้องตามกรอบ ?แผนพลังงานชาติ? ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2 อีกด้วย

5) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 ? 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ