วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2564) เวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมของการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 13 ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วมฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13ท่ามกลางข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้โลกเห็นว่าทั้งเอเชียและยุโรปยังยึดมั่นต่อพหุภาคีนิยมเพื่อสร้างโลกในยุค Next Normal ที่มีความสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำถึงสิ่งที่สำคัญ คือการที่ผู้นำอาเซมต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมที่จะช่วยกันทำให้พหุภาคีนิยมแข็งแกร่งขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่อาเซมถือกำเนิดขึ้นบริบท และความท้าทายที่เอเชียและยุโรปประสบเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายร่วมเหล่านี้ได้แต่เพียงลำพัง ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดขนาดใหญ่ เช่น โควิด-19 หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน โดยพหุภาคีนิยมจะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจและเชื่อใจระหว่างกัน บนพื้นฐานของหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วม
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่ทำให้พหุภาคีนิยมเข้มแข็งขึ้น คือ การมุ่งสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความท้าทายระดับโลก ซึ่งต้องถอดบทเรียนจากวิกฤตเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปถึงประโยชน์ที่ประชาชนของอาเซมจะได้รับจากการประชุมฯ ได้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประการแรก อาเซมช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของทุกประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ให้ทั่วถึงและยั่งยืน เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างโลกหลังโควิด-19 ที่ประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตจากความไม่สมดุลอีก และทั้งสองภูมิภาคจะมุ่งสร้างโลกยุค Next Normal ที่เติบโตบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs โอกาสนี้ ไทยยินดีที่ได้ร่วมกับผู้นำอาเซมในการรับรองแถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19
ประการที่สอง อาเซมเชื่อมโยงสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยได้รับรองเอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของกลุ่มอาเซียน และกำหนดแนวทางเชื่อมโยงทั้งด้านกฎระเบียบ การค้าการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างความเชื่อมโยงนี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคที่จะสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวระหว่างเอเชียกับยุโรป
ประการสุดท้าย อาเซมสร้างความร่วมมือเพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในยุค Next Normal โดยรู้ถึงคุณและโทษ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างข้อริเริ่มของไทยในอาเซมในด้านการศึกษาที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักเรียนเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เยาวชนพบปะผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มแล้ว ยังได้ขยายโลกทัศน์ของเยาวชน เช่น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า เยาวชนอาเซมจะขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงในโลก ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซมในเดือนธันวาคม 2564 พร้อมและยินดีที่จะผลักดันข้อริเริ่มนี้เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
1. แถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (13th Asia-Europe Meeting Chair?s Statement)
2. แถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Phnom Penh Statement on the Post-COVID-19 Socio-Economic Recovery) และ 3. เอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป (The Way Forward on ASEM Connectivity)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th