วันนี้ (6 ม.ค.65) เวลา 09.30 น ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม เน้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันหาแนวทางเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศไทยให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้ราคาไฟฟ้าแพง และทำให้เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมนำพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ มาใช้ ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานชีวมวลหรือพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย จะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤตด้านพลังงาน โดยในปี 2565 ต้องดำเนินการให้มีความก้าวหน้าชัดเจน เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น และขยายการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป เพื่อร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พร้อมแนะให้พิจารณาแยกกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มโรงงาน/เครื่องจักร เกษตรกร สาธารณูปโภคพื้นฐาน กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานมาก ฯลฯ เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นธรรมกับทุกกลุ่ม และประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐตามมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศให้ประชาชนรับทราบ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ พร้อมย้ำให้ดำเนินการแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 ? 2574 รวมถึงโครงการอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก อันจะส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตกได้ จึงต้องดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประชาชนและประเทศ รวมไปถึง การแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
1. เห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นำเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนำส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา 2019 (COVID ? 19) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว
2. เห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง ได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 1) สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 2) สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) และ 3) สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point) โดยจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคา LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ต่อไป
3. เห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565-2566 50 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 - 2574 ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565 ? 2574 รวมถึงรองรับพลังงงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ
ที่ประชุมยังรับทราบแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 - 2574 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่าย ไฟฟ้าที่จำเป็น รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทฯ และสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจะได้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า อัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th