วันนี้ (10 มกราคม 2565) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลนายคิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล (Mr. Kiptiness Lindsay Kimwole) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบ แสดงความยินดีที่ได้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถกระชับความสัมพันธ์ และขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยไทยและเคนยาจะครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของเอกอัครราชทูตฯ ทั้งในเวทีโลก และระหว่างประเทศจะทำให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและรอบด้านมากยิ่งขึ้น
ด้านเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทยกล่าวขอบคุณที่ให้เข้าพบในวันนี้ รู้สึกยินดีที่ได้มาประจำการที่ประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินบทบาทอย่างแข็งขัน เพื่อกระชับและสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และสร้างสรรค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเคนยาอย่างรอบด้านต่อไป
- ด้านสาธารณสุข ไทยยินดีและพร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับเคนยาในการรับมือต่อสู้กับโรคโควิด 19 และโรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงการให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร ด้านสาธารณสุขของเคนยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า เคนยาหวังที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 การแบ่งปันและถ่ายถอดองค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ
- ด้านการค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรียินดีที่เคนยาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยใน แอฟริกาตะวันออก หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเพิ่มพูนปริมาณการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นได้ในอนาคต โดยไทยและเคนยาต่างมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและสามารถเป็นประตูการค้าให้แก่กันและกันสู่ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) และแอฟริกาได้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ และพร้อมสนับสนุนเพื่อขยายความร่วมมือกันมากขึ้นในด้านนี้ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตกล่าวพร้อมสนับสนุนหากภาคเอกชนไทยมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเคนยาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
- ด้านการศึกษา วิชาการ และการพัฒนา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้ โดยรัฐบาลเคนยาให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยยินดีให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่เคนยาในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ผ่านการจัดสรรทุนฝึกอบรมระยะสั้นและระยะยาวในรูปแบบทุนระดับปริญญาโท ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ให้ทุนในรูปแบบทุนฝึกอบรม ซึ่งดำเนินการโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA)
- ด้านเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่า ไทยและเคนยาสามารถร่วมมือกันในเรื่องดังกล่าวได้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล BCG ที่เน้นการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล (Blue Economy) ของเคนยา ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรทางทะเลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าและวัตถุดิบทางทะเล รวมทั้งการทำประมงอย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th