วันนี้ (20 มกราคม 2565) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายซาฮิบซาดา อาห์เมด คาน (H.E. Mr. Sahebzada Ahmed Khan) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีที่ได้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนานและถือเป็นวาระครบรอบ 70 ปี เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา พร้อมขอส่งความปรารถนาดีไปยังนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเอกอัครราชทูตปากีสถานฯ จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยไทยพร้อมดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับปากีสถานเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกระดับต่อไป
เอกอัครราชทูตปากีสถานฯ กล่าวยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาประจำการในประเทศไทย พร้อมยืนยันที่จะสานต่อและขยายความร่วมมือกับไทยอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา ซึ่งเอกอัครราชทูตปากีสถานฯ เล็งเห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีเอกลักษณ์ร่วมกันเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังกล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลไทยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูความร่วมมือด้านต่าง ๆ อีกทั้งได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของไทย เชื่อมั่นว่า การเป็นประธานของไทยจะช่วยส่งเสริมและขยายขีดความสามารถทางการค้าการลงทุนได้ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคต่อไป
- ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ควรส่งเสริมการหารือทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งปากีสถานเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในเอเชียใต้ โดยควรใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต่อยอดไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน (PATHFTA) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ด้านเอกอัครราชทูตปากีสถานฯ เห็นพ้องที่จะผลักดันการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวมากขึ้น พร้อมชื่นชมโครงการ EEC ของไทยที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในประเทศ ซึ่งปากีสถานให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีควบคู่กัน
- ด้านการศึกษา ไทยยินดีสานต่อด้านความร่วมมือทางการศึกษา โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีที่ปากีสถานมีความชำนาญ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะประสานงานอย่างใกล้ชิดในด้านทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรมสำหรับครูและนักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อไปศึกษาต่อที่ปากีสถานในสาขาอื่นๆ ที่สนใจนอกเหนือจากด้านศาสนา
- ด้านความร่วมมือทางความมั่นคง เอกอัครราชทูตปากีสถานฯ ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวทางการรับมือที่เกิดจากภัยคุกคาม เช่น การจัดการพื้นที่บริเวณชายแดน การจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนความร่วมมือทางกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องว่าทั้งสองประเทศสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพได้ ดังเช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญในนโนบาย
- ด้านความร่วมมือทางการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีชื่นชมปากีสถานที่เป็นแหล่งอารยธรรมคันธาระ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศิลป์และถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและมนุษยชาติ พร้อมขอบคุณการสนับสนุนการจัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมในโอกาสครบรอบ 70 ปี ซึ่งทางเอกอัครราชทูตปากีสถานฯ เปิดเผยว่า ปากีสถานมีแผนการจัดนิทรรศการการแสดงศิลปะวัตถุตักศิลา-คันธาระจำนวนกว่า 100 ชิ้น มาจัดแสดงในไทย รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ที่จะจัดสร้างที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุที่พิพิธภัณฑ์ตักศิลา โดยทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมการและคาดว่าจะสามารถจัดแสดงได้ภายในเดือนมีนาคม 2565
ที่มา: http://www.thaigov.go.th