วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ครั้งที่ 1/2565 และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมอบโนยบายให้แก่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองประธานคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จอยู่ในระดับที่น่าพอใจภายในปี 2565 โดยแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP [(ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP)] ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบให้เกิดความเข้มแข็งตั้งแต่วันนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาของประชาชนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายแต่ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีกำลังใจต่อสู้ ในการเอาชนะเพื่อประเทศและประชาชน โดยกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จทุกมิติให้มากที่สุดภายในปี 2565 เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสานต่อดำเนินการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
นายกรัฐมนตรีกำชับถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่มาจากหลายแห่ง จะต้องนำมาประมวลวิเคราะห์อย่างเป็นระบบชัดเจน มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถนำไปสู่การปฏิบัติและแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง เกิดผลเป็นรูปธรรมทุกมิติตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน 5 มิติ ทั้งมิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ ขณะเดียวกันให้พิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณลงไปในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพแต่ละพื้นที่ รวมถึงการติดตามประเมินผลความสำเร็จของโครงการ ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ให้นำศักยภาพของ Soft Power ทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชุมชนดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่มาช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาต่อยอดในการสร้างอาชีพและรายได้ โดยคำนึงการผลิตที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคด้วย
พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้แก่คณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือในการชี้เป้า การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายใน 30 กันยายน 2565 และให้กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแนวทางการแก้ไขปัญหา (เมนูแก้จน) ที่ฝ่ายเลขานุการ คจพ. เสนอ ไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ หรือหากปัญหาของครัวเรือนแตกต่างจากเมนูแก้จน ให้กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขเป็นรายครัวเรือน รวมทั้งมอบหมายเจ้าภาพหลัก รับผิดชอบในแต่ละมิติ โดยสามารถใช้แผนงาน/โครงการ ในเมนูแก้จน ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เป็นไปแบบพุ่งเป้า เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของข้อมูล มีการบูรณาการการใช้ประโยชน์ของข้อมูลร่วมกัน รวมถึงให้หน่วยงานในพื้นที่มีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขอให้หน่วยงานที่มีข้อมูลจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการ ดำเนินงานของ ศจพ. ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานต่าง ๆ ในระยะต่อไปจำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในพื้นที่ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 4 แนวทาง ได้แก่ 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP โดย ศจพ. ทุกระดับดำเนินการเติมเต็มข้อมูลในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุม ครบถ้วน สมบูรณ์ 2) ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน 3) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล และ 4) ร่วมแก้ไขและพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
โดย สศช. ร่วมกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่จะดำเนินการจัดมหกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในบางกอกน้อยโมเดล และดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำโครงการเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อนำไปสู่การขอรับการจัดสรรงบประมาณแบบพุ่งเป้าต่อไป รวมทั้ง ศจพ. ทุกระดับ โดยเฉพาะ ศจพ.จ. พัฒนาโครงการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยพุ่งเป้าหมายให้เกิดความยั่งยืนและสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 และแผนระดับที่ 3 อื่น ๆ
1) แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย (เมนูแก้จน) ตามมิติความขัดสน 5 มิติความขัดสน ประกอบด้วย (1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (3) สถานะทางสุขภาพ (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม และ 3 ขั้นตอนของการพัฒนา ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน โดยมอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย หรือ ?เมนูแก้จน? ให้ครอบคลุมมิติและระดับขั้นของการพัฒนา และดำเนินการเผยแพร่ต่อไป รวมทั้งมอบหมาย ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ นำแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย มาดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้า โดยต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับภูมิสังคมของการพัฒนาในพื้นที่
2) แนวทางการดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานและการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายทีมพี่เลี้ยงนำข้อมูลบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมาย จากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน และเป็นผู้ติดตาม/ดูแลครัวเรือนเป้าหมายอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบันทึกผลการดำเนินงานลงในระบบ Logbook ทุกครั้งที่มีการให้ความช่วยเหลือของกระทรวง หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวง กรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายตามที่ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ชี้เป้า โดยให้นำแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP (เมนูแก้จน) ให้กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหา หากสภาพปัญหา แตกต่างจากแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP หรือเมนูแก้จน ให้ดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขรายครัวเรือน โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565
ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานลด ละ เลิกการทำงานแบบต่างคนต่างทำ และให้ความสำคัญกับการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้ ศจพ. ระดับต่าง ๆ ทีมปฏิบัติการฯ และทีมพี่เลี้ยงนำเข้าข้อมูลในระบบ TPMAP ทุกครั้งที่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้อง รวมทั้งให้หน่วยงาน ศจพ. อื่น ๆ โดยเฉพาะ ศจพ.ข. และศจพ. ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวทางนี้ ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญและคำนึงถึงต้นทุนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีการทำงานเป็นทีม ถ่ายระดับจากระดับนโยบายลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
3) แนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยหน่วยงานจะต้องยึดตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 การมองเป้าหมายร่วมกัน แนวทางที่ 2 การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าที่ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อย และการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แนวทางที่ 3 การจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอโครงการฯ และแนวทางที่ 4 การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานจัดทำโครงการเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการฯ อย่างเคร่งครัด และมอบหมาย สศช. จัดทำกลไกเพื่อรองรับโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามแนวทางที่กำหนด เพื่อนำไปสู่กระบวนการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป รวมทั้งเห็นชอบหลักการโครงการนำร่องสัมมาชีพเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ ให้เป็นไปตามแนวทางฯ และประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายงบกลาง หรืองบประมาณอื่น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป
--------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th