นายกฯ หารือเอกอัครราชทูต EU มุ่งสร้างความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหภาพยุโรปทุกมิติ พร้อมขยายร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2022 15:51 —สำนักโฆษก

นายกฯ หารือเอกอัครราชทูต EU มุ่งสร้างความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหภาพยุโรปทุกมิติ พร้อมขยายร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ที่ได้เข้ารับตำแหน่ง เชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ของเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ที่มีความความคุ้นเคยกับประเทศไทยจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสานต่อความร่วมมืออีกหลากหลายสาขาในอนาคต และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเปิดมุมมองใหม่ในสาขาที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่สหภาพยุโรปมีมติยอมรับเอกสารรับรอง Thailand Digital Health Pass บนระบบ ?หมอพร้อม? ให้ใช้เป็นหลักฐานในการเดินทางในยุโรปได้เทียบเท่ากับกับ EU Digital COVID Certificate (EU DCC) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ด้านเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานมาตลอด โดยแสดงความชื่นชมการทำงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไทย พร้อมเชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งทางสหภาพยุโรปยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังได้แสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของไทยซึ่งเป็นบทบาทของไทยในเวทีโลก เชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนและสามารถต่อยอดไปถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ขอให้ไม่ลืมที่จะคำนึงถึงสหภาพยุโรปในทุกความร่วมมือ เพราะยุโรปมีศักยภาพทั้งด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และอื่นๆ

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
  • ด้านยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งไทยยินดีมีส่วนร่วมกับยุทธศาสตร์ฯ ในการขับเคลื่อนวาระสำคัญซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ทะเล การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่จะมีความร่วมมือกันได้ต่อไป
  • ด้านความตกลงทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน โดยได้หารือถึงกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement - PCA) ซึ่งมีความก้าวหน้าต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งทางเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ มองว่า ไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาค ที่จะส่งผลประโยชน์ร่วมกันได้
  • ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำการให้ความสำคัญต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-EU โดยจะเร่งการเจรจาและกำหนดระดับเป้าหมายของ FTA ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ได้แลกเปลี่ยนหารือในประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างสร้างสรรค์ โดยเป็นการหารืออย่างเปิดกว้าง ตรงไปตรงมา และขึ้นกับหลักการความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายยืนยันความตั้งใจที่จะให้ความขัดแย้งในโลกยุติลงด้วยการเจรจาโดยสันติ และพร้อมที่จะใช้กรอบความร่วมมือที่มีให้เป็นประโยชน์เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในโลก

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ได้กล่าวติดตามคำเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงาน High-level event ?Thailand-EU Partners in Business? ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาคำเชิญด้วยความขอบคุณ และหากเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ มีข้อห่วงกังวลเรื่องใด สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ พร้อมจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ