วันนี้ (18 ก.พ. 65) เวลา 19.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณในคำแนะนำต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อห่วงใย การแก้ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมรับฟังข้อแนะนำและความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การหารือ เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณา ทั้งร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รอบคอบเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยคำนึงถึงภาระทางการเงินที่จะต้องรับผิดชอบต่อไปด้วย โดยยืนยันไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์กับบุคคลใด หรือต้องการจะทิ้งทวนอย่างที่ผู้อภิปรายกล่าวอ้าง แต่อย่างใด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่มุ่งเน้นกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการลดหนี้ภาคครัวเรือน ปัญหาเรื่องที่ดิน โดยเข้าใจดีถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นเพราะเคยยากลำบากมาเช่นกัน เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่จะต้องทำงานแลกเงินเดือน และอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงซึ่งมีค่าตอบแทนไม่มากนัก ดังนั้นย่อมเข้าใจความยากลำบากเป็นอย่างไร ซึ่งความยากลำบากแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นคำกล่าวที่ว่ารัฐบาลไม่ได้มีการสร้างแผนงานระยะกลาง ระยะยาว ให้แต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่งเท่านั้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องดังกล่าวเพียงอย่างเดียว ได้มีการเตรียมแผนงานอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะปานกลาง ระยะยาวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลาพอสมควรในการดำเนินการ วิธีการแก้ไข รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันรัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามทำอย่างเต็มที่และทำให้มากขึ้น ทั้งนี้หากข้อสังเกตใดที่เป็นประโยชน์ นายกรัฐมนตรีก็พร้อมนำไปใช้ในการขับเคลื่อนต่อไป
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยในปี 2565 รัฐบาลได้กำหนดให้ ?ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน? โดยจะมีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจและ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะได้มีการชี้แจงต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 8 ประเด็นข้างต้นแล้ว ทราบดีว่าความยากจนของแต่ละคนแต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้คือ ?การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง? เป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น นี่คือเรื่องใหม่ที่รัฐบาลทำเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ แบบพุ่งเป้ารายครอบครัว ทั้งหมดนี้ได้สั่งการลงไปแล้ว และรัฐบาลจะมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป
เรื่องที่ดิน นอกจากจะใช้กลไก คทช. เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ให้มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน มีประชาชนได้รับประโยชน์ไปแล้ว คิดเป็นพื้นที่กว่า 850,000 ไร่ การจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือที่เรียกว่า One Map เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว เพื่อให้เส้นแนวเขตที่ดินของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าไม้ ที่ สปก. ที่สาธารณประโยชน์ หรือที่ดินมีโฉนดของประชาชน เป็นเส้นแนวเขตเดียวกัน ขณะนี้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 22 จังหวัด ยังเหลืออีก 44 จังหวัด ก็จะดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งมีการพัฒนาให้ดีขึ้นหลาย ๆ รายการ ล่าสุดเป็นเรื่องการขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ และการคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งช่องปาก การตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้นทุกปี อย่างเรื่องการเพิ่มบทบาทของ อสม. และหมอครอบครัว อย่างไรก็ตามเรื่องสุขภาพ อยากให้มุ่งเน้นเรื่องของการป้องกันมากกว่ารักษา สิ่งสำคัญทุกคนต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และมีประโยชน์ต่อร่างกายและเข้าถึงได้ ต้องการสุขภาพปฐมภูมิให้ได้ก่อนที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลจะดีกว่า ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยก็มีโครงการบ้านล้านหลังให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างบางส่วนที่รัฐบาลทำไปแล้ว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโอกาสที่รัฐบาลพยายามสร้างให้เกิดกับประเทศไทย รัฐบาลพยายามหารายได้ใหม่ ๆ สร้างงานใหม่ ๆ ให้กับประชาชน ประเทศไทยต้องมีการลงทุนและเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ ภายหลังจากที่สถานการณ์ COVID - 19 คลี่คลายลง จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2) การลดปริมาณคาร์บอนซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 โดยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการสนับสนุนเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3) การค้าและการลงทุนที่มีการกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดบริษัทระดับโลกที่มีแผนกระจายการลงทุนไปยังประเทศ หรือภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย 4) ในขณะเดียวกันแต่ละประเทศก็จะต้องมีการพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ ยาและวัคซีนจากสถานการณ์ COVID ? 19
จากการพิจารณาข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับแนวโน้มของสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้ตัดสินใจมุ่งเน้น 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยที่แต่ละอุตสาหกรรมก็ได้มีการตั้งวิสัยทัศน์ และ Road Map อย่างชัดเจน ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการไปตั้งแต่ปีที่แล้ว มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นการสร้างความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยนายกรัฐมนตรีได้อธิบายให้เห็นภาพในแต่ละ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ดังนี้
อุตสาหกรรมแรก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ซึ่งประเทศไทยจะต้องรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยมีเป้าหมาย 30@30 หรือมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยหากดำเนินการสำเร็จตามนโยบาย 30@30 ก็จะส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ 3.6 แสนล้านบาท เพิ่ม GDP 2.1 แสนล้านบาทภายใน 10 ปี เกิดการพัฒนาทักษะอาชีพแก่คนไทยหลายแสนคน และเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลด PM 2.5
อุตสาหกรรมที่ 2 ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาว (LTR) ซึ่งมีเป้าหมายในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงหรือเป็นผู้มีทักษะสูง จำนวน 1 ล้านคน เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศมาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดผู้มีความสามารถมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย ขณะนี้ก็ได้ดำเนินการรองรับมาตรการดังกล่าว เช่น การออกวีซ่าของผู้พำนักระยะยาว การประกาศใบอนุญาตทำงาน และการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง One Stop Service ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศไทย
อุตสาหกรรมที่ 3 คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคแก่บริษัทดิจิทัลต่าง ๆ ได้มีการหารือกับนักลงทุนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับทราบข่าวดีเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุน ในประเทศไทยจากนักลงทุนระดับโลก อุตสาหกรรมที่ 4 ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประเทศไทยมีโอกาสต่อยอดจากฐานการผลิตที่เรามีอยู่รวมถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ได้มีโอกาสหารือกับนักลงทุนต่างชาติหลากหลายที่มีความสนใจขยายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้ และอุตสาหกรรมสุดท้าย อันดับที่ 5 คือ อุตสาหกรรมยา ซึ่งต้องดึงดูดการลงทุนทั้งในขั้นตอนการผลิตยา และการพัฒนาและวิจัย โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานโครงการนำร่อง Sandbox ในพื้นที่ EEC และได้มีการหารือกับนักลงทุนต่างประเทศที่มีความสนใจ นอกจากนี้ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนระดับโลกได้ รวมถึง บริษัท Foxconn ที่ร่วมลงทุนกับ ปตท. ในธุรกิจรับจ้างผลิตรถ EV ขนาดเงินลงทุนประมาณ 3 - 6 หมื่นล้านบาท และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกอย่าง Arcelik-Hitachi (อาร์เซลิก ฮิตาชิ) ที่ตัดสินใจมาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่ประเทศไทย และในระหว่างนั้นก็จะมีการพบปะนักลงทุนในประเทศ และเดินสายเจรจากับนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 2-3 ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง เพื่อสื่อความถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้น ให้นักลงทุนเห็นถึงโอกาส และเชิญชวนให้มาลงทุนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน อินเดีย หรือจากประเทศยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ข้างต้น เกิดการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความสามารถ รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากบริษัทเหล่านี้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th