นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ก.พ.65) เวลา 08.45 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร อว. เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเสนอโครงการเชื่อมโยงข้อมูลชุมชนกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data :TCD) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชุมชนของประเทศขนาดใหญ่หรือรวบรวมข้อมูลสำคัญพื้นฐานของเศรษฐกิจบีซีจี อาทิ การเก็บรวบรวมข้อมูลพืช สัตว์ แมลง และสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นที่ ข้อมูลการเกษตรในพื้นที่ ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งฐานข้อมูล เหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บ เชื่อมโยงการวิเคราะห์กับข้อมูลความต้องการของตลาด (Demand) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการอื่นได้แก่ ข้อมูลผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ข้อมูลการส่งออก ข้อมูล TPMAP เป็นต้น โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ทำการทดลองสืบค้น ข้อมูลตามความสนใจ (โปรแกรมที่ใช้สืบค้นตัวอย่างการเชื่อมโยงข้อมูล TCD ไปสู่ BCG Product สามารถดูได้จาก Link https://bit.ly/3fXeQ7Z) โดยชื่นชมการเชื่อมโยงข้อมูล TCD เป็นฐานข้อมูลที่ดีมากและมีความแม่นยำสูงเพราะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบเพื่อแต่ละหน่วยงานสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในวางแผนการบริหารจัดการและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ ยังเน้นให้มหาวิทยาลัยทำงานกับพื้นที่อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับฐานข้อมูล TCD ดังกล่าวได้จัดทำในพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา คิดเป็น ร้อยละ 50 โดยประมาณของประเทศ ฐานข้อมูล TCD นี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ทำให้มีข้อมูลพื้นฐานของการวางแผน บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Biodiversity resource planning) ข้อมูลสามารถถูกเพิ่มและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้ ตลอดเวลาเนื่องจากเชื่อมต่อกับระบบบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (CDB application) และการประมวลผล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th