วันนี้ (21 ก.พ. 65) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีสังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชี้แจงกรณีมีคำถามว่าการประชุม ศบค. ชุดใหญ่วันพุธที่จะถึงนี้ (23 ก.พ. 65) จะมีการประกาศล็อกดาวน์หรือยกเลิก Test & Go ในการเดินทางเข้าประเทศหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น
ผู้ช่วย ศบค. ชี้แจงว่า ในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมประชุม แจ้งข้อมูลยังไม่มีการพูดถึงความจำเป็นในการล็อกดาวน์ จึงต้องเน้นย้ำว่า ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อย่างไรก็ดี การพิจารณาคงไม่ได้ประเมินเฉพาะยอดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยหนัก หรือยอดผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังคงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วย ในส่วนของความกังวลของประชาชน บางครั้งอาจเกิดจากการรับฟังข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลจากนักวิชาการ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้เกิดความตกใจว่าอาจจะมีการล็อกดาวน์นั้น ผู้ช่วย ศบค. ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีทิศทางหรือแนวโน้มที่จะประกาศล็อคดาวน์ จึงขอความร่วมมือนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เวลาที่ให้ความเห็นขอให้ระบุอย่างชัดเจนด้วยว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เพราะว่าจะทำให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการมีความกังวล
ในส่วนของระบบ Test and Go ตั้งแต่ 1-20 กุมภาพันธ์ 2565 มีคนเดินทางเข้ามา 137,090 ราย มีรายงานเป็นผู้ติดเชื้อ 3,495 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็อยู่ที่ 2.55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็คือ ใน 100 คน มีติดเชื้อไม่ถึง 3 คน โดยกลุ่มที่เดินทางเข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 326,283 ราย อัตราการติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับเดียวกัน ก็ยังถือว่าระบบสาธารณสุขและมาตรการที่สาธารณสุขใช้ยังรองรับได้
ในแง่ของการติดเชื้อ มีทั้งจากกลุ่ม Test and Go และ Sandbox และ Quarantine ที่เป็นรายงานผู้ติดเชื้อ ตรวจเจอจากระบบที่วางมาตรการไว้ให้มีการตรวจเชื้อก่อนที่จะเดินทางจากประเทศต้นทาง และพอเดินทางมาถึงไทยต้องมีการตรวจยืนยันด้วย PCR Test ตั้งแต่วันแรก พบว่า วันที่มาถึง กลุ่ม Test and Go ตรวจเจอว่าเป็นผู้ติดเชื้อถึง 46 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่ม Sandbox 44 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมด สำหรับการตรวจอีกครั้งในวันที่ 4-7 กลุ่ม Test and Go ก็ยังมีผลบวก 44.74 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ไม่ได้ปิดกั้นการเดินทางแต่จำเป็นต้องคงมาตรการที่จำเป็น หลายฝ่ายก็อยากให้ปิดแต่ขณะที่ฝ่ายที่จำเป็นต้องดำเนินธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจ ตั้งคำถามว่าทำไมยังคงต้องมีการตรวจ PCR ซ้ำ ซึ่งจากตัวเลขจะเห็นว่า ในวันที่ 4-7 ยังมีการพบเป็นผู้ติดเชื้อผลเป็นบวกได้ จึงต้องมีการพิจารณาควบคู่กัน ศบค. จะมีการรายงานผลการประชุมวันพุธนี้ และจะมีการอธิบายเหตุผลว่า จะมีมาตรการรองรับอย่างไรหากไม่มีการล็อกดาวน์ ถ้าจะยังคงเปิดประเทศรองรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ก็จะตามมาด้วยมาตรการที่เข้มงวดอย่างไร
ที่มา: http://www.thaigov.go.th