วันนี้ (9 มี.ค. 65) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2565 (ครั้งที่ 157) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์ในวันนี้มีวิกฤตด้านพลังงานจากสถานการณ์นอกประเทศ ที่มีผลกระทบกับไทยในหลายมิติด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับแผน พัฒนาแผนต่าง ๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เฉพาะเรื่องของพลังงานและน้ำมันเท่านั้น ทั้งนี้ เรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิล รวมทั้ง LPG และ NGV ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งต้องหามาตรการที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยได้มีการดำเนินการทั้งในเรื่องของภาษี และจัดหาเงินมามาทดแทนกองทุนพลังงานที่มีน้อยลงและอยู่อย่างจำกัด โดยดำเนินการภายใต้สมมติฐาน และบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น การพิจารณาราคาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันว่าจะสามารถอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไปได้เป็นระยะเวลาเท่าใดในราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการคาดการณ์ไปถึงว่าหากราคาเกินกว่าที่กำหนดไว้จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป และท้ายที่สุดหากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่องขึ้นไปอีก ณ เวลานั้นก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะหลายประเทศก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากเทียบราคาน้ำมันและราคาก๊าซของประเทศไทยกับหลายประเทศอาเซียนแล้ว ราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำถึงแม้จะไม่ได้ต่ำที่สุด เพราะมีบางประเทศที่มีแหล่งพลังงานในประเทศด้วย จึงขอให้ทุกคนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะแก้ไขได้ ประชาชนก็ต้องมีความเข้าใจและฟังเหตุผลด้วยว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือตรงไหนอย่างไร ถ้านำงบประมาณมาทุ่มตรงนี้ทั้งหมด อย่างอื่นก็จะไปไม่ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โดยขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้มีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล การสูบน้ำเพื่อการเกษตร บ้านเรือนประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดโลกร้อนด้วย
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง
2. เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
3. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน Avoided cost และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารให้เป็นไปตามนโยบายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS - PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 US Cents/หน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ที่ผ่านการพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หาก อส. และ กพช. มีความเห็นให้แก้ไขร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
5. เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ดังนี้ 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภท บ้านอยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมาย การรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายการรับซื้อ มอบให้ กบง. พิจารณากำหนด เป้าหมายดังกล่าวได้ 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2565 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 1.00 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
กพช. ยังมีมติเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 ? 2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อรองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ เนื่องจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th