นายกฯ ย้ำบอร์ด คนร. ทำงานโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของชาติ เร่งแก้ปัญหาเก่า เดินหน้าใหม่ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต พร้อมรับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 แห่งมีความคืบหน้า

ข่าวทั่วไป Wednesday March 16, 2022 13:51 —สำนักโฆษก

นายกฯ ย้ำบอร์ด คนร. ทำงานโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของชาติ เร่งแก้ปัญหาเก่า เดินหน้าใหม่ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต พร้อมรับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง มีความคืบหน้าตามลำดับ

วันนี้ (16 มี.ค. 65) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายในการทำงานของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ว่า ต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ขอให้คณะกรรมการทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวัง ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ได้มากที่สุด พร้อมฝากให้คณะกรรมการทุกคนพิจารณาว่า ปัญหาในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีพื้นฐานของปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่เป็นการบริหารงานแบบเดิม ๆ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เกิดความเชื่อมั่น ให้เดินหน้าต่อไปได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ที่พบว่า มีผลการดำเนินงานหลายอย่างที่ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าเป็นการดีขึ้นจากการประกอบการจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นมาประกอบ เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การขายทรัพย์สินหรือให้เช่าพื้นที่ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง ขณะที่ในส่วนของผลการประกอบการหลักยังขาดทุนอยู่ จึงต้องแยกส่วน รายละเอียดออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้เจอปัญหาที่จะต้องแก้ไขในทุกรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสาหกิจต้องเร่งแก้ปัญหาเก่าและเดินหน้าใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต ซึ่งทุกอย่างขึ้นกับความร่วมมือของทุกคน ที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใสในการประกอบการธุรกิจที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้

ที่ประชุม คนร. ได้พิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. การจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 (แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยให้มีการกำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒน์ฯ) ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และการสร้างความมั่นคงในด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการเกษตรของประเทศรองรับผลกระทบต่าง ๆ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น

2. การดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คนร. ได้กำชับให้มีการดำเนินการตามแผนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องทางการเงินและการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น บริษัท เอ็นที จำกัด (มหาชน) ให้เร่งพัฒนาและบริหารจัดการระบบ 5G และดาวเทียมไทยคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งการจัดหารถเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น เป็นต้น

3. การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 และ 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการประเมินที่ดีขึ้น โดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านการรองรับ Next Normal การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งให้มีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตให้สำเร็จ และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะวิกฤติต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรียังกล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าไม่เข้มแข็งในวันนี้ก็จะลำบากในวันหน้า เพราะโลกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น มีการเลือกข้างกันมากขึ้น ซึ่งนายกฯ พยายามยืนอยู่ให้ได้เวลานี้ในเวทีโลก หลายคนมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่นายกฯ ก็มีหลักในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะเราเป็นประเทศอาเซียน เป็นประเทศเล็ก และมีปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ พอสมควร ดังนั้น การวางบทบาทของเราก็ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์การรบของรัสเซียกับยูเครน จะยังเป็นปัญหาอยู่อีกสักระยะหนึ่ง อาจจะเร็วหรือช้า ซึ่งอย่างน้อย 3 เดือนจะต้องเตรียมมาตรการทุกอย่างให้พร้อม เพราะประเทศยังมีปัญหาอีกมาก ฉะนั้น การจะนำเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดมาอุดหนุนเรื่องพลังงานอย่างเดียวคงไม่พอ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น จึงต้องหามาตรการอื่นมาเสริมด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท โดยได้ใช้เงินอุดหนุนไปหลายหมื่นล้านบาท และต่อไปต้องดูแลพลังงานอื่นอย่างก๊าซหุงต้ม แอลพีจี เอ็นจีวี ขณะที่ราคาพลังงานก็ยังมีความผันผวน แกว่งตัวขึ้นลงอยู่ทุกวัน ต้องขอให้ทุกคนเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลดูแลอย่างเต็มที่ โดยขอให้ร่วมมือและช่วยกันปรับตัวในสถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาและดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ