วันนี้ (7 เม.ย.65) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานในวาระสำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับปรุงประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ของ OECD (Pillar 2) และการส่งเสริมการลงทุนปี 2565 ไตรมาสแรก ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามแผน โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยความรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม สำหรับการปรับปรุงประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ หรือ 750,000 คัน (เป็น BEV: Battery Electric Vehicle 375,000 คัน) ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (CHARGING STATION) เพื่อรองรับการใช้งานที่จะเติบโตขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลาง สำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ โดยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจ Startup สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงต้องมีการบูรณาการแผนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมของกระทรวงคมนาคมให้สอดคล้องกับแผนด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานด้วย เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเร็ว
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD (Pillar 2) โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสีย เพื่อปรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนได้อย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ เช่น อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน รวมมูลค่า 14,442.4 ล้านบาท ในกิจการ DATA CENTER จาก 2 บริษัท คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งมีโครงการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำยางสังเคราะห์ (SYNTHETIC LATEX) และโครงการผลิต COPPER FOIL
ที่ประชุมรับทราบรายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนปี 2565 ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.65) พบว่าสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกของปี 2565 มีจำนวนโครงการรวม 378 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่ารวม 110,733 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 77,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 78,217 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมฯ ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมรวมมูลค่า 60,362 ล้านบาท นอกจากนี้ ในเดือน ก.พ.? มี.ค. 65 คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น SUSPENSION FOR HARD DISK DRIVE, MULTILAYER PRINTED CIRCUIT BOARD, MULTILAYER CERAMIC CHIP CAPACITOR (MLCC) อุปกรณ์สื่อสารใยแก้วนำแสง และเส้นใยเทคนิค
ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติปรับปรุงสิทธิประโยชน์การให้ส่งเสริมลงทุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่น ๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี รวมทั้งยกเลิกเงื่อนไขห้ามรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่น เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยมาตรการหลายประการควบคู่กัน และยกเลิกเงื่อนไขการต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 18000 และปรับเงื่อนไขเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้เพิ่มเงื่อนไขให้มีการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th