วันนี้ (7 เมษายน 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเฟอร์นันโด ฆูลิโอ อันโตนิโอ กีโรส กัมโปส (H.E. Mr. Fernando Julio Antonio Quir?s Campos) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณ เอกอัครราชทูตฯ ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-เปรูให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง และยินดีที่ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นรักษาพลวัตสามารถกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน แม้จะมีความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 55 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2563 จนสำเร็จลุล่วง โดยนายกรัฐมนตรียังได้ฝากความปรารถนาดีไปยังนายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส ประธานาธิบดีเปรู พร้อมหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีเปรูในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปลายปีนี้ที่กรุงเทพฯ
เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานในไทยเสมอมา และยืนยันว่าจะทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันต่อไป พร้อมเน้นย้ำว่าไทยมีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้าน จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยเปรูพร้อมสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 อย่างเต็มที่ และหวังที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่ต่างฝ่ายต่างมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomic tourism) ซึ่งทั้งไทยและเปรู ถือเป็นผู้นำในด้านนี้ และการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนกันและกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมเปรูที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนครบ 2 เข็มในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางของประเทศ ซึ่งไทยก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสมดุลระหว่างมาตรการทางสาธารณสุขกับการใช้ชีวิตของประชาชน
ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าของไทยกับเปรูยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เปรูถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยเห็นโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานชีวภาพ และการเกษตรยั่งยืน ทั้งเกษตรอินทรีย์และคาร์บอนต่ำ ซึ่งไทยและเปรูต่างให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน มีจุดเด่นทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาหารรายใหญ่ของโลก
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งไทยและเปรูหวังว่าจะได้ร่วมมือกันในสาขาใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกันในสาขาการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาพืชทางเลือก การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความร่วมมือพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเอเปคไปข้างหน้า ท่ามกลางความท้าทาย โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก การค้าการลงทุน และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยไทยพร้อมสนับสนุนเปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอีกครั้งในปี 2567 โดยเฉพาะการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน ในขณะที่เปรูยินดีสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของเปรู
ที่มา: http://www.thaigov.go.th