วันนี้ (19 เมษายน 2565) เวลา 12.30 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรีและตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า นับจากนี้จะเป็นช่วงการเริ่มต้นในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม Roadmap หลังโควิด เร่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ด้วยการบริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลพร้อมจะหางบประมาณเพื่อสนับสนุนและบริหารจัดการเพื่อการดูแลพี่น้องประชาชน โดยได้เน้นย้ำหลักการใช้จ่ายงบประมาณกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความระมัดระวังอย่างที่สุดในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะรายได้ของประเทศลดลงแม้ว่าภาคการส่งออกจะดีขึ้นก็ตาม การใช้งบประมาณต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศผ่านอุปสรรคและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาจากภายในประเทศและสถานการณ์ต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยจะต้องทำให้ประชาชนอยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบการเงินการคลังยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในวงเงินที่ค่อนข้างสูงมาก แต่หลังจากนี้จะต้องดูแลผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ควบคู่กันไปด้วย เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นแหล่งจ้างงาน ซึ่งนับเป็นห่วงโซ่ในระบบที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนการสร้างรายได้ในระบบ รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การมีรายได้ที่สูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยต่อการใช้จ่ายเงินของพี่น้องประชาชน เนื่องจากรายได้ที่ลดลงแต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงานสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการความช่วยเหลือมาเป็นระยะ ๆ สิ่งสำคัญคือการเร่งหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกกลุ่มในระยะต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง มาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีมาตรการออกมาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและความเดือดร้อน ทั้งในระดับผู้ประกอบการและภาคการขนส่ง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกันตนตามมาตราต่าง ๆ รวมทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้า โดยมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปเพื่อการลดภาระของผู้ใช้บริการเหล่านี้ รวมทั้งต้องช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนด้วย แม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้จ่ายเงินเข้าบัญชีโดยตรงเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็ก และเบี้ยผู้พิการ ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ให้ต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกับคนกลุ่มนี้ให้อยู่รอด แต่ในอนาคตรัฐบาลจะเร่งเสริมความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลยังได้เร่งรัดการเจรจากับต่างประเทศเพื่อส่งเสริมด้านการค้าการลงทุน เร่งรัดการเจรจา การจัดทำ MoU เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ เร่งเดินหน้ามาตรการรองรับเพื่ออำนวยความสะดวกให้มีการลงทุนทางธุรกิจจากต่างประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งหลาย ๆ ประเทศมีความสนใจในศักยภาพและความพร้อมด้านทรัพยากรของประเทศไทยที่มีจุดแข็งด้านอาหาร ธรรมชาติ และการท่องเที่ยว จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะชู Soft Power เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ขอความร่วมมือคนไทยช่วยกันรักษา ดูแล สิ่งเหล่านี้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด ที่กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยอาจมีการเสนอพิจารณาปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยอาจมีการผ่อนคลายเร็ว ๆ นี้ เพื่อปลดล็อกให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th