วันนี้ (9 พ.ค. 65) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ เยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุปและหารือแนวทางการพัฒนาการเกษตรของไทยไปสู่การเกษตรแบบ Smart Farming ณ ห้องประชุมอาคารเกษตรวิวัฒน์ คูโบต้าฟาร์ม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีรับฟังแนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่และชุมชนต้นแบบ Smart Farming ที่ประสบความสำเร็จ ดังนี้ 1) วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เรื่อง ?ลด (ต้นทุน) ละ (การหว่าน) เลิก (การเผา)? นำเสนอโดย นายไพฑูรย์ ฝางคำ จุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนตำบลผักไหมฯ คือ เป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ มาตรฐานอินทรีย์ และการปลูกพืชหลังนาเพื่อบำรุงดินและเพิ่มรายได้หลังการทำนา ซึ่งทำให้ชุมชนลดต้นทุนการทำเกษตรได้มากขึ้น ลดมลภาวะทางอากาศเนื่องจากทำเกษตรปลอดการเผา สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันมีสมาชิก 158 คน พื้นที่เกษตรกรรมรวม 2,541 ไร่ 2) วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เรื่อง ?ทดแทนแรงงาน ด้วยการบริหารเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ? โดยนางบุญเพ็ง อาจหาญ จุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า คือ มีกลุ่มผู้ปลูกพืชหลากหลาย เน้นการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร แบบรวมกลุ่ม เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกพืช สร้างรายได้และอาชีพให้แก่คนในชุมชน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 219 คน พื้นที่เกษตรกรรม 2,318 ไร่ 3) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ เรื่อง ?ชุมชน ?น้ำ? ดี? นำเสนอโดยนางบุญเลิศ ปราบภัย จุดเด่นคือการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง และมีการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 84 คน พื้นที่เกษตรกรรม 1,700 ไร่
จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังโครงการความร่วมมือการพัฒนา Smart Farming เพื่อเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร จากนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยโครงการมีแนวทางการพัฒนา Smart Farming 5 เรื่องหลัก คือ 1) การบูรณาการองค์ความรู้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก 2) การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งความรู้การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น การอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร 3) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การติดตั้งสถานีวัดอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร การปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงง่ายและสัญญาณที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 4) การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย และ 5) ด้านการตลาด โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดทั้งปริมาณความต้องการและราคา เพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพื่อความยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งโครงการมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น โครงการเกษตรปลอดการเผา โครงการเกษตรปลอดนาหว่าน แอพพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูก KAS โครงการแรงงานคืนถิ่น โครงการต้นกล้าดิจิทัล เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง ว่า เป็นโอกาสดีที่ได้มาตรวจเยี่ยมคูโบต้าฟาร์ม ซึ่งเป็นต้นแบบของเกษตรทันสมัย หรือ Smart Farming และเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของไทยให้อยู่ในระดับแนวหน้า ซึ่งวันนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่สนใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ มาร่วมเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์มด้วย รู้สึกยินดีที่ได้มาพบกับกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำ Smart Farming ทั้ง 3 กลุ่มซึ่งความสำเร็จของกลุ่มเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยทั่วประเทศที่คาดหวังจะประสบความสำเร็จในอนาคต พร้อมแสดงความชื่นชมความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และชุมชนต้นแบบ Smart Farming ที่ประสบความสำเร็จ ผ่านการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าภาคการเกษตรคืออนาคตของประเทศไทยที่มีการทำการเกษตรมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาขณะนี้คือเกษตรกรออกจากภาคการเกษตรไปทำอาชีพอื่นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รายได้ภาคเกษตรก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้นต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดั้งเดิมมีมูลค่าสูงขึ้นให้ได้ ประชาชนมีรายได้ที่เหมาะสม และหลุดพ้นจากความยากจน สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยอยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำเกษตรที่จะต้องมีการพัฒนาปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยงแปลง และสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งการหาแหล่งน้ำบนดิน และใต้ดิน (น้ำบาดาล) ให้เพียงพอต่อการทำเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชน โดยขณะนี้มีโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15 โครงการในพื้นที่ 11 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป พร้อมกันนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ และการส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาการเผาพืชผลทางเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน PM2.5 ด้วย และที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตของเกษตรกรไทยมาโดยตลอด อีกทั้งยังได้มีการประกาศและขับเคลื่อนนโยบายการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ การยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล การบริหารจัดการแหล่งน้ำและชลประทานเพื่อการเกษตร การจัดการพื้นที่เกษตรเชิงรุกด้วย Agri-map การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจและปรารถนาให้เกษตรกรไทยมีโอกาสเข้าถึงการทำเกษตรสมัยใหม่ในวงกว้าง ในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาศึกษาเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม และได้หารือกันเพื่อส่งเสริม Smart Farming โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการกษตรให้ประสบผลเป็นรูปธรรม ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกซน สถาบันการศึกษา และที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถขยายผลเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับพี่น้องกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ซึ่งบางพื้นที่ประสบปัญหาการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกล เกษตรกรขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงงรักษา และการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรก็ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้น ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในวงกว้างต่อไป เช่น การสร้าง Start up กลุ่มเกษตรอัจฉริยะ โดยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษหรือเงินอุดหนุนแก่ Young Smart Farmer เพื่อนำไปบริหารจัดการหรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลโดยการรวมกลุ่มใช้/การจับคู่ (matching) เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเกษตรกรรุ่นใหม่ การส่งเสริม Start up กลุ่มเกษตรอัจฉริยะและเครื่องจักรกลเกษตรจากคนรุ่นใหม่ การทำผลงานวิจัยเครื่องจักรกลในพื้นที่กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้งานโดยตรง รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงด้านการใช้เทคโนโลยีให้กลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงการตลาด ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาหรือวิทยาลัยเกษตรกรรมอาจจัดทำโครงการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรเครื่องจักรกล รวมทั้งการติดตั้ง Internet Wifi ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งการขับเคลื่อนและขยายผลนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเกษตรและการส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจนและพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทยต่อไป
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมปลูกต้นรวงผึ้งที่บริเวณหน้าอาคารเกษตรวิวัฒน์ แล้วนำกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ Smart Farming เยี่ยมชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าฟาร์ม รวม 3 โซน ได้แก่ โซนเกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนา โซนเกษตรทฤษฎีใหม่และโคกหนองนาโมเดล และโซนเกษตรสมัยใหม่พืชไร่ ซึ่งระหว่างการเยี่ยมชมพร้อมรับฟังบรรยายสรุปการเกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าฟาร์ม นายกฯ ได้สอบถามถึงการดำเนินการในแต่ละโซนด้วยความสนใจ พร้อมย้ำว่าการทำเกษตรปัจจุบันต้องมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยดำเนินการในด้านการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพด้านการเกษตรให้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในด้านการเกษตรด้วย ทั้งนี้การรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นอีกแนวทางสำคัญในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรได้ พร้อมกับแนะนำให้ประสานกรมการข้าวในการจัดหาข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีการพัฒนาแล้ว มาเพาะปลูกให้มากขึ้น
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีชื่นชมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาเพื่อทำการเกษตรสมัยใหม่ ที่นับเป็นการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม และถือเป็นชุมชนแหล่งเรียนรู้ตัวอย่าง เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์การเกษตร ตลอดจนการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน และนายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณคูโบต้าฟาร์ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมย้ำถึงการดำเนินการเกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าฟาร์มคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรไทยในระยะต่อไป ในการเป็นเกษตรพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นการดำเนินการตามโครงการตามแนวพระราชดำริ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการให้มีการขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th