รัฐบาลมอบของขวัญผู้สูงวัยในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2565 ให้ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครบวงจร นายกฯ ย้ำของขวัญวันผู้สูงอายุฯจะเป็นส่วนดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของขวัญวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2565 ?สาธารณสุขห่วงใย มอบของขวัญผู้สูงวัย ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2565? โดยมีการสาธิตการคัดกรองความเสื่อมของร่างกาย 3 ด้าน ได้แก่ ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกาย และสุขภาพช่องปาก พร้อมโปรแกรมชะลอความเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุ และการมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับแก่ญาติผู้สูงอายุติดเตียง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ของขวัญผู้สูงวัยในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2565 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ดูแลตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลให้ครอบคลุม เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นตัวอย่างของขวัญชิ้นที่สาม สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง ให้กับนางสาวขนิษฐา นัดกระจ่าง ญาติของผู้สูงอายุติดเตียงด้วย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม จึงมีการมอบของขวัญผู้สูงวัยในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2565 เพื่อให้ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครบวงจรตั้งแต่การคัดกรอง ชะลอความเสื่อม และการดูแลในภาวะพึ่งพิง ด้วยของขวัญ 3 ชิ้น ในระบบบริการสุขภาพ ดังนี้ 1) การคัดกรองความเสื่อมของร่างกาย โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกาย และสุขภาพช่องปาก ดำเนินการคัดกรองโดยบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีความเสื่อมได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทันท่วงที ครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน 2) โปรแกรมชะลอความเสื่อมของร่างกาย เพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ดำเนินการโดยหมอคนที่ 1 และคนที่ 2 ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยหมอคนที่ 2 ทำหน้าที่วางแผนโปรแกรม สาธิตวิธีการ และให้การดูแลรักษาเบื้องต้น ในขณะที่หมอคนที่ 1 ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน และเสริมพลังผู้สูงอายุและญาติให้ดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมที่วางแผนไว้ ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงกว่า 1 ล้านคน 3) การสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยผู้บริบาลผู้สูงอายุในระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ได้แก่ ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) จำนวน 16,000 คน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 100,000 คน ตลอดจนสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ สำหรับผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ซึ่งนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง รวมทั้งการสนับสนุนให้บุคคลในครอบครัวมีสมรรถนะเป็นผู้บริบาลในครอบครัว (Family caregiver) ครอบคลุมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงกว่า 500,000 คน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th