นายกฯ เป็นประธานการประชุม กปส. รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงานโครงการหลวง โดยน้อมนำแนวทางพระราชทานรัชกาลที่ 9 และดำเนินงานตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข่าวทั่วไป Wednesday May 18, 2022 15:44 —สำนักโฆษก

นายกฯ เป็นประธานการประชุม กปส. รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงานโครงการหลวง โดยน้อมนำแนวทางพระราชทานรัชกาลที่ 9 และดำเนินงานตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวงในการปฏิบัติงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2565) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ VDO conference เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่สนับสนุนงานโครงการหลวง รวมทั้งพิจารณาแผนงานสนับสนุนโครงการหลวง โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพล กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญผลการประชุม ดังนี้

องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวขอบคุณรัฐบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงอย่างดียิ่งตลอดระยะเวลากว่า 53 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการหลวงได้น้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนบนพื้นที่สูง นำร่องการแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง เป็นต้นแบบการดำเนินงาน ให้แก่รัฐบาล สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่สูง 10 จังหวัด ประชากร 130,000 ครัวเรือน ใน 1,116 กลุ่มบ้าน คิดเป็นร้อยละ 26.54 ของจำนวนกลุ่มบ้านบนพื้นที่สูงของประเทศทั้งหมด โดยมูลนิธิโครงการหลวงเป็นองค์กรหลักดำเนินงานในพื้นที่ 39 แห่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงนำแบบอย่างการพัฒนาของ โครงการหลวงไปขยายผลปฏิบัติในพื้นที่อีก 44 แห่ง ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล พร้อมการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 30 หน่วยงาน มุ่งแก้ไขปัญหาขจัดความยากจน และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูง ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2565 ผลงานวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ 89 ชนิด สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรบนฐานความรู้ตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท เป็นการ ส่งเสริมอาชีพเน้นการผลิตพืชใหม่มูลค่าสูง ภายใต้หลักวิชาการการใช้พื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาชีพ มีรายได้เพิ่ม ลดการใช้พื้นที่ ลดการเผาทำลายและการใช้สารเคมี พร้อมไปกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดูแลสุขอนามัยแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลสถานพยาบาล ยกระดับการศึกษาเยาวชน ส่งเสริมอาชีพแก่ผู้พิการ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด และประสาน ความร่วมมือกับชุมชนในการฟื้นฟูป่า มุ่งยกระดับการพัฒนาสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ โดยพื้นที่โครงการหลวงได้รับการ รับรองมาตรฐานชุมชนคาร์บอนต่ำจากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว 21 ชุมชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการบุกเบิกพัฒนาบนพื้นที่สูงของโครงการหลวงเป็นแบบอย่างที่ดี มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกหน่วยราชการ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุข แก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาความ เหลื่อมล้ำ โดยเข้าไปศึกษาเรียนรู้งานโครงการหลวง บูรณาการแผนงาน แผนเงิน แผนคน ให้เกิดประโยชน์ ขณะนี้โครงการหลวงได้วางเป้าหมายสู่การพัฒนาเป็นสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้และรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงขยายออกไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งตั้งขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของการวิจัย บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป โดยน้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการดำเนินงานตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบผลการดำนเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนา โครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 6 ปี ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมแนะนำให้มีการปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานช่วยกันติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับป่าและสัตว์ที่อาศัยในป่า โดยแนะนำให้มีการปลูกไม้ยืนต้น และต้นไม้อื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น สำหรับเป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งให้คนได้ใช้ประโยชน์ร่วมด้วย เพื่อให้ความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงอยู่ต่อไปสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ในการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลดการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปศึกษาในการดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องการนำสารชีวภัณฑ์มาใช้แทนสารเคมีในการควบคุมและกำจัดศัตรูพืชโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ เช่น การทำแก้มลิง การดึงน้ำจูงน้ำ และการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลสำเร็จของการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ก็เกิดผลเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้เช่นกัน ตลอดจน การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงภารกิจที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการระดับท้องถิ่น ที่ต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและประชาชนได้ประโยชน์ รวมถึงการให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบพุ่งเป้าซึ่งเป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยจัดสรรงบประมาณและดำเนินโครงการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้รายครัวเรือนเกิดผลสำเร็จได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนการสนับสนุนให้ทำเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาเกษตรตาม Agri-Map การเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนดึงดูดผู้ที่มีทักษะและศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาช่วยพัฒนาขับเคลื่อนประเทศอีกทางหนึ่งด้วยโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ

สำหรับที่ประชุม กปส. ได้มีการพิจารณาในประเด็นสำคัญ อาทิ ผลการดำเนินงานสำคัญของมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกว่า 30 หน่วยงาน ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2565 โดยที่ประชุมได้นำเสนอความก้าวหน้าของการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จร้อยละ 99.7 ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาที่ครบวงจร ที่จะก่อเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และพื้นที่สูงอื่นอย่างกว้างขวาง มีศักยภาพในด้านการวิจัยและขยายพันธุ์พืช การอารักขาพืช การแปรรูปสมุนไพร ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศ (DATA CENTER) ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สูง นอกจากนี้ มูลนิธิโครงการหลวงยังได้จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน เพื่อขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนงานพัฒนาพื้นที่สูง งานโครงการหลวง และงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน และให้พิจารณาดำเนินการตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ