วันนี้ (23 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอานุลัก กิดติคูน (Mr. Anoulak Kittikhoun) หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สำหรับประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีต้อนรับและแสดงความยินดีที่ นายอานุลักฯ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นคนที่ 3 ของ MRCS ไทยพร้อมร่วมทำงานความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง ซึ่งไทยขอเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบสะสม เพื่อให้แม่น้ำโขงเป็นหลักการภายใต้สายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรืองและมิตรภาพ
นายอานุลักฯ ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งของตน เห็นพ้องกับรองนายกรัฐมนตรีถึงความสำคัญของลุ่มน้ำโขงที่ทุกภาคส่วนต้องประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ทั้ง 4 ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) สำคัญต่อ การหารือทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันที่จะกระชับความร่วมมือกับไทยเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขงในทุกมิติ รวมทั้งยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทุกประเทศสมาชิก เข้าใจในทุกประเด็นผลกระทบของทุกประเทศ โดยจะยึดหลักปฏิบัติตามหลักการอย่างเท่าเทียมกัน
ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2564 - 2573 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงเพื่อการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน เตรียมความพร้อมในการรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุทกภัย ภัยแล้ง และภัยพิบัติ โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ต้องมีการติดตามสภาวะสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของโครงการพัฒนาต่าง ๆ อย่างจริงจังพร้อมกับการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงเชิงรุก ด้านนายอานุลักฯ ให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การรักษาระดับการไหลของน้ำ คุณภาพน้ำ 2. การปกป้องและรักษาทรัพยากรน้ำเพื่อประชาชนในลุ่มน้ำโขง 3. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนหากมีการโครงการร่วมลงทุนต่าง ๆ 4. การเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 5. ความร่วมมือทั้งลุ่มน้ำ โดยจะเน้นย้ำมาตรการแจ้งเตือนในพื้นที่ และจะมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ 4 (MRC Summit) ซึ่งลาวจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
ด้านการผลักดันแนวทางในอนาคต รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่ง MRCS เปรียบเสมือนหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้ประเทศสมาชิก จึงขอให้ทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการอย่างเป็นกลางและเต็มที่ตามที่ตั้งปณิธานไว้ ซึ่งนายอานุลักฯ เห็นพ้องและมีแนวทางที่จะผลักดันในระยะ 3 ปีข้างหน้าว่าจะเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก MRC และระหว่างแม่น้ำโขงทั้งตอนบนและตอนล่าง พร้อมจะพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เครือข่ายการติดตามสถานการณ์น้ำพัฒนาดีขึ้น ผ่านเครื่องมือและการสื่อสารด้านอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งในปีหน้ามีแผนที่จะเริ่มการพัฒนากองทุนเพื่อการส่งเสริมและช่วยเหลือชุมชนในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย
ด้านการสนับสนุนและความร่วมมืออื่น ๆ รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การพัฒนาใด ๆ ขอให้วิเคราะห์ผลกระทบโครงการอย่างละเอียด รอบคอบ ในทุกมิติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและขอให้ศึกษาผลกระทบอย่างชัดเจน จริงจัง เป็นรูปธรรม พร้อมขอให้ประสานเป็นแนวทางการดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป MRC จะเป็นกรอบความร่วมมือด้านน้ำและทรัพยากรในแม่น้ำโขงที่คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยไม่ขัดข้องในการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำอย่างยิ่งยืน แต่ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำด้วย รวมทั้งต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการอุปโภคบริโภค
ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีอวยพรให้ นายอานุลักฯ ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไทยในนามของประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยและสมาชิกคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า MRC จะเป็นแกนกลางเชื่อมโยงประชากร สายน้ำและวัฒนธรรมที่จะผลักดันให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งมิตรภาพสืบไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th