วันนี้ (23 พ.ค. 2565) เวลา 14.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งเป็นไปตามตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งผู้นำอินเดีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ร่วมกันประกาศถ้อยแถลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Statement on Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนประเทศพันธมิตรเสริมสร้างกรอบความร่วมมือ IPEF ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ครอบคลุม ยั่งยืน และส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งยังมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพิ่มการสร้างงานในสาขาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานสะอาด รวมถึงผลักดันการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรม มีมาตรฐาน และขจัดคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า IPEF จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งของโลก มี GDP ครอบคลุมถึงร้อยละ 60 และเป็นภูมิภาคที่มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือที่สร้างเข้มแข็ง เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน สร้างการค้าและการลงทุนที่มีความโปร่งใส มีการพัฒนาทุนมนุษย์ และมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับความเป็นหนึ่งเดียว และการเป็นแกนกลางของอาเซียน และยินดีเปิดรับหุ้นส่วนประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมในอนาคต จึงหวังว่าทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันขับเคลื่อน IPEF ให้เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เสริมสร้างความร่วมมือกับทุกประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่จัดกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ในวันนี้ และขอแสดงความยินดีกับสหรัฐฯ ต่อแนวคิดที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดย IPEF เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่จะนำไปสู่โอกาสใน 4 สาขา เพื่อยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ทั้งนโยบาย กฎหมาย อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกัน ซึ่งหวังว่าจะมีการปรึกษาหารือในรายละเอียดต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมาทุกยุคสมัยด้วยรายได้จากการส่งออกสินค้า และบริการซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP ไทยจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน เร่งขับเคลื่อนประเทศ และประชาชนไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มุ่งเน้นเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้โดยลำพังได้ จึงยินดีที่ IPEF มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุมร่วมกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ประวัติศาสตร์ของโลกและของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อนำไปใช้สร้างความปรองดองในภูมิภาค และประเทศไทยยึดมั่นในระบบการค้าเสรีและเปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ พร้อมเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในภูมิภาคอย่างครอบคลุม จะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งร่วมกัน นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง
อนึ่ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วมแถลงผ่านระบบการประชุมทางไกล อาทิ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เป็นต้น และนายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม โดยสหรัฐฯ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยได้ใช้โอกาสนี้แสดงความพร้อมในการมีบทบาทส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งได้นำเสนอวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังสถานการณ์โรคโควิด-19
ที่มา: http://www.thaigov.go.th