รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือตามโครงการ WHO Biohub system หนุนไทยเป็น 1ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมโครงการแบ่งปันเชื้อชีวภาพกับองค์การอนามัยโลก

ข่าวทั่วไป Thursday May 26, 2022 13:44 —สำนักโฆษก

รองนายกฯ ?อนุทิน? ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือตามโครงการ WHO Biohub system หนุนไทยเป็น 1ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมโครงการแบ่งปันเชื้อชีวภาพกับองค์การอนามัยโลก เพื่อการพัฒนาต่อสู้โรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกประเทศเข้าถึงยาและวัคซีน

วันที่ 26 พ.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ร่วมกับนาย Tedros Adhanom Ghrebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นสักขีพยานการลงนามในข้อตกลง Standard Material Transfer Agreement 1 (SMTA1) ระหว่างประเทศไทยและ WHO ตามโครงการพัฒนาระบบศูนย์กลางทางชีวภาพ หรือ WHO Biohub system

สำหรับผู้แทนลงนามจากทั้ง 2 ฝ่ายประกอบด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ ดร.Jaouad Mahjour ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินและกฎระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศ

นายอนุทิน กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานการลงนามว่า ไทยและ WHO ได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือนี้ในช่วงการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.-2 ธ.ค. 2564 จากนั้นคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้ดำเนินการหารือในรายละเอียด จัดทำข้อตกลงและสามารถลงนามได้ในครั้งนี้ โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกที่ร่วมลงนามกับ WHO

?การที่ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับ WHO เป็นประเทศแรกๆ นี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและขีดความสามารถในด้านห้องปฏิบัติการของประเทศไทย ที่มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งการถอดรหัสพันธุกรรม การเพาะและส่งต่อเชื้อโรคใหม่ๆ ด้วยมาตรฐานระดับสูง? นายอนุทิน กล่าว

สำหรับ ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยบทเรียนจากการระบาดใหญ่ของโควิด19 ที่แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกอาจถูกคุกคามจากโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต ทั่วโลกจำเป็นต้องร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น WHO ประเทศไทย และสมาชิก WHO บางประเทศ จึงเห็นพ้องว่าควรจะมีการตั้งระบบศูนย์กลางทางชีวภาพ (Biohub system) เพื่อรวบรวมเชื้อต่าง ๆ ที่อุบัติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล องค์ความรู้ที่จะรับมือกับโรคได้รวดเร็ว นำไปสู่การวิจัยให้ได้ยา วัคซีนหรือแนวทางการป้องกัน รักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ SMTA1 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกระบวนการเก็บและการส่งเชื้อด้วยมาตรฐานระดับสูง โดยประเทศไทยจะส่งเชื้อให้ WHO ตามความสมัครใจ (Voluntary Sharing) จากนั้น WHO จะนำเชื้อไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่สามารถใช้เพื่อการค้า (Non-Commercial Public Health Purpose) เมื่อสามารถผลิตยา วัคซีนได้ จะต้องมีแนวทางการกระจายยาหรือวัคซีนที่ได้ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยไม่แสวงหากำไร ซึ่ง WHO Biohub นี้ จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน ความเสมอภาคในการเข้าถึงยา/วัคซีน เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดของทุกประเทศไปด้วยกัน ไม่ทิ้งประเทศใด โดยเฉพาะประเทศยากจนไว้ข้างหลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ