วันนี้ (30 พฤษภาคม 2565) เวลา 13.22 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงผลการเข้าร่วมประชุมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาวที่มีกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การหารือระดับทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือกันในหลากหลายมิติ โดยได้ยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น เป็น ?หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน? เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะความเจริญอย่างยั่งยืน และการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวทาง BCG ทั้งรถยนต์ EV เคมีภัณฑ์ การแพทย์และการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer และทุกมิติ โดยทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางที่เข้มแข็งของอาเซียน โดยมีพื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการลงทุนต่าง ๆ โดยผู้บริหารกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จะได้มาเยือนไทยเพื่อเริ่มต้นกลไกการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้
2. การเจรจาฟื้นฟูกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เพื่อเปิดตลาดการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดเวลา เช่น การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ที่เกิดผลอย่างดียิ่ง มีการเริ่มเปิดเส้นทางสายการบิน เกิดข้อตกลงเรื่องการส่งแรงงานไทยไปทำงาน และไทยได้ส่งออกไก่แปรรูปไปซาอุดีอาระเบียได้เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ซึ่งภายในปีนี้จะส่งออกได้ 6 พันตัน เกิดมูลค่าการค้า 500 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลได้มีการเจรจาข้อตกลงต่าง ๆ ก่อให้เกิดความร่วมมือที่จะเปิดทางให้กับการค้าการลงทุนที่กลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐมีกำหนดจะเข้ามาเยือนและเจรจาข้อตกลงการลงทุนในเร็ว ๆ นี้
3. การรื้อฟื้นและยกระดับกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก กับประเทศไทย (PCA) เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความมั่นคงทางไซเบอร์ สาธารณสุข และการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม Joint Committee ระหว่างไทยกับ EU เพื่อติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือนี้
4. รัฐบาลเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว ที่มีกำหนดการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ ไทย - สปป.ลาว เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการคมนาคมแบบไร้รอยต่อ การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือด้านพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมด้วย
5. ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในประเด็นต่าง ๆ ที่รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุดและมีความน่าสนใจ เช่น
1) ครม.มีมติเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านทาง ธกส. ที่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ในปี 2565 - 2567 รวม 3 ปี วงเงินปีละ 2,000 บาท รวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะรับชดเชยดอกเบี้ยให้ตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้ขยายเป็นระยะที่ 3 โดยจะได้มีการนำข้อมูลแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
2) ครม. เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลเรื่องการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ตามบริบทสถาพแวดล้อมของชาวไร่อ้อยที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกกลุ่ม
3) ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอจากกระทรวงวัฒนธรรม ในการกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็น ?วันผ้าไทยแห่งชาติ? National Thai Textile Day เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างที่พวกเราทุกคนได้ทราบดีว่าพระองค์ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการส่งเสริมเรื่อง ?ผ้าไทย? เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ได้ทรงส่งเสริมการทอผ้าพื้นถิ่นของไทย ทุกประเภทและในทุกจังหวัด ทรงแนะนำเพื่อพัฒนาคุณภาพและฝีมือของชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้เสริม นอกจากนี้ ยังทรงรับซื้อผ้าทอพื้นถิ่นเพื่อนำมาสนับสนุน ให้นักออกแบบเครื่องแต่งกายไทยออกแบบสร้างสรรค์ เป็นชุดแต่งกายไทย ทรงสนับสนุนให้เพิ่มเติมคุณค่าด้วยการปักด้วยเส้นไหมหรือวัสดุสวยงามต่าง ๆ หรือให้ออกแบบ ผ้าทอพื้นถิ่นของไทยให้เป็นชุดแต่งกายตามสมัยนิยมสำหรับใช้ในโอกาสต่าง ๆ ที่หลากหลาย อีกทั้งทรงส่งเสริมศิลปะด้านการออกแบบเครื่องอาภรณ์ประดับควบคู่ไปกับ การส่งเสริมชุดแต่งกายไทยทั้งในโอกาสประเพณีนิยม และตามแฟชั่นสมัยใหม่ด้วย จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็น ?วันผ้าไทยแห่งชาติ? เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจอย่างสูงสุดกับผ้าไทย ที่เป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยหลังจากนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้นำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th