นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า วันนี้ (7 ก.ค.65) เวลา 10.40 น. ณ บ้านท้องคุ้ง หมู่ 7 ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมการบริหารงานกล้วยไข่แปลงใหญ่ ตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งกล้วยไข่ถือเป็นพืชอัตลักษณ์ (GI) ที่สำคัญประจำจังหวัดกำแพงเพชร มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาด สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานความเป็นมาและสถานการณ์การปลูกกล้วยไข่กำแพงเพชร ตลอดจนปัญหาและแนวทางการส่งเสริมการปลูกกล้วยไข่พันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นสินค้าอัตลักษณ์ (GI) ของกำแพงเพชร โดยนายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดกำแพงเพชรดำเนินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยมีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่เชื่อมโยงตลาด ปี 2564 เข้าร่วมโครงการ 47 แปลง เกษตรกร 2,216 ราย งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน 137 ล้านบาท โดยเกษตรกรได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ17.69 เพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 18.01 ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเกษตรกรประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้งและลมพายุ ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นส่งผลให้พื้นที่ปลูกกล้วยไข่ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ 2,951 ไร่ ในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าชอบกล้วยไข่เพราะอร่อยและมีกลิ่นหอม ขอบคุณในความร่วมมือร่วมใจของทุกคนกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมชื่นชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง และทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีการดำเนินงานด้วยความเข้มแข็ง มีการเข้าถึงปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ทำให้มีภูมิคุ้มกัน และเป็นไปตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษาต่อยอด โดยเฉพาะการนำปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์ แล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดทำให้มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนมีรายได้ที่ยั่งยืน
ส่วนปัญหาพื้นที่การปลูกกล้วยที่ลดลงนั้น นายกรัฐมนตรีให้ข้อเสนอแนะว่าต้องไปหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้เกษตรจังหวัดไปศึกษาหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ รวมถึงการปลูกพืชผสมผสานระหว่างที่รอกล้วยยังไม่ออกผล เพื่อจะได้มีรายได้ต่อเนื่อง และขอให้ใช้น้ำยาหรือปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมี เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม หากจะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชไปสู่พืชใดก็แล้วแต่ ขออย่าทิ้งการปลูกกล้วยไข่
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาผลกระทบเรื่องราคาต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย ที่ได้รับผลจากความขัดแย้งในต่างประเทศที่เกิดขึ้นขณะนี้ รัฐบาลก็พยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่ราคาปุ๋ยก็แพงทั้งหมดและทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น ขณะนี้จึงขอให้ทุกคนปรับตัว โดยเฉพาะการหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมี และขอให้ทุกคนอดทนอีกหน่อย นายกรัฐมนตรีก็รู้สึกเจ็บปวดและรับรู้ถึงปัญหาที่ประชาชนและเกษตรกรได้รับจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทำงานก็เพื่อประชาชน และรัฐบาลยังให้ความสำคัญ และดำเนินการดูแลบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน (น้ำบาดาล) การทำระบบส่งน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ ให้เพียงพอทั้งการอุปโภคบริโภค และการเกษตร รวมถึงการดำเนินการเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเข้าถึงทุกพื้นที่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการนั้น จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะทุกอย่างจะเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้
นายกรัฐมนตรีย้ำการทำเกษตรต้องมีการลดต้นทุนการผลิต โดยให้นำเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย และผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อรัฐบาลจะเข้ามาดูแลได้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด พร้อมกล่าวชื่นชมที่มีการสร้างมูลค่าทางการตลาดไปสู่ช่องทางต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น และมีการใช้ทุกส่วนของกล้วยไข่อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร คุ้มค่า ในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่า โดยขอให้ดำเนินการต่อเนื่อง รวมถึงการทำเกษตรปลอดภัย GAP และเกษตร GI ซึ่งนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้มีการดำเนินการให้มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามหาช่องทางในการดูแลให้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารักทุกคน รักทุกจังหวัด เพราะทุกคนคือคนไทย ซึ่งการที่ทุกคนรักสามัคคีกันทำให้ต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก็มาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีเพื่อนำกลับมาดูแลประชาชนและพัฒนาประเทศต่อไป ในต้อนท้าย นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเอง และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข Universal Prevention โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 และทำให้อยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเงินไปใช้ในด้านอื่นที่จำเป็น ทำให้ทุกคนอยู่รอดทั้งปลอดภัยจากโควิด ปลอดภัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อไปสู่ความยั่งยืน คือทุกคนมีรายได้ที่เพียงพอสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จากนั้นนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการดำเนินงานการบริหารจัดการกล้วยไข่แปลงใหญ่ ตำบลท่าพุทรา โดยมีนางดวงฤทัย เงินยวง ประธานกลุ่มกล้วยไข่แปลงใหญ่ฯ นำเยี่ยมชม รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ปลูกกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรร่วมกับชาวกำแพงเพชรด้วย พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากกล้วยไข่ซึ่งเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ เช่น ข้าวเกรียบกล้วยไข่ กล้วยอบแดด คุกกี้แป้งกล้วยไข่ น้ำพริกกล้วยไข่ ท้องม้วน-ทองพับกล้วยไข่ เป็นต้น
สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีอาชีพทำสวนกล้วยไข่เป็นอาชีพหลัก ได้เข้าร่วมเป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วยไข่ตามนโยบายรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อเข้าสู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานตามระบบเกษตรแปลงใหญ่ ที่นำไปสู่การลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP : Good Agricultural Practice) และการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) รวมทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วยไข่พื้นเมืองให้เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองกำแพงเพชร โดยทางกลุ่มได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาวิธีการผลิต และการบริหารจัดการแบบระบบแปลงใหญ่ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยลดการใช้สารเคมีโดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน และคุณภาพผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตที่ได้เป็นกล้วยไข่ปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP 33 ราย และได้มาตรฐาน GI 27 ราย รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด โดยมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ข้าวเกรียบกล้วยไข่ น้ำพริกกล้วยไข่ ชาเกสรกล้วยไข่ อาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงแพะ และจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งยังมีช่องทางตลาด Online ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th