นายกฯ ประชุม ศบค. กำชับสธ. ติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรง-การกลายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 สั่ง ศธ. เน้นแผนเผชิญเหตุ ป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียน ให้ มท. เฝ้าระวังจุดผ่อนปรน

ข่าวทั่วไป Friday July 8, 2022 13:11 —สำนักโฆษก

นายกฯ ประชุม ศบค. กำชับสธ. ติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรง-การกลายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 สั่ง ศธ. เน้นแผนเผชิญเหตุ ป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียน พร้อมให้ มท. เฝ้าระวังจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนที่ไม่มีจุดควบคุมโรคกำกับ

วันนี้ (8 กรกฎาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 10/2565 กำชับ ให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามอาการผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง-การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เตรียมความพร้อมเตียง แพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ให้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน/ยา เป็นระยะ พร้อมเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปอีก 2 เดือน เป็นคราวที่ 19 ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานผลการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของโควิด-19 เนื่องจากหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งอาจทำให้การติดตามสายพันธุ์ใหม่ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ มีสัดส่วนของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และกำลังแทนที่สายพันธุ์เดิม ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วและรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น จากการมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงอาจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและรักษาตัวที่บ้านเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การสุ่มตรวจ และติดตามการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ต่อไป และในช่วงนี้ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นในไทย ขอให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมของเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนและภูมิคุ้มกัน อาการความรุนแรงของโรค และการตอบสนองต่อยารักษา รวมทั้งขอให้รายงานความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาให้ทราบเป็นระยะด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ศบค. ได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ โดยประชาชนต้องเตรียมพร้อม และอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่สำคัญคือการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด สถานที่แออัด รถขนส่งสาธารณะ แม้กระทั่งเครื่องบิน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะช่วยลดและป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้

สำหรับมติ ศบค. ที่สำคัญ ได้แก่ รับทราบแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือการระบาดและเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารจัดการหลังการระบาด (Post-pandemic) ซึ่งมีแผน/มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 ในระยะต่อไป 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พร้อมเห็นชอบหลักการ มาตรการ และมอบหมาย ดังนี้ 1) มอบ คกก.โรคติดต่อชาติ กำหนดกรอบนโยบาย และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรา 14 (1) ของพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 2) เห็นชอบหลักการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้เกินกว่าร้อยละ 60 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง 3) มอบ สธ. จัดระบบการเข้าถึงยาต้านไวรัสให้สะดวกและเข้าถึงง่าย 4) มอบกรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสวมหน้ากาก และการรับวัคซีน 5) มอบกระทรวงมหาดไทย ศึกษาข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาตัดโรคโควิด-19 ออกจากโรคต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นการดำเนินการดำเนินการในระยะต่อไป

ศบค. เห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปอีก 2 เดือน (1 สิงหาคม 2565 ? 30 กันยายน 2565 เป็นคราวที่ 19 เพื่อยังคงไว้ซึ่งดำรงบรรดามาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการให้มีความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเดินหน้าเศรษฐกิจ หวังให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิต กลับมาประกอบอาชีพได้อย่างปกติ พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลตรวจตราด่านช่องทางเข้า-ออก ทั้งด่านปกติ ด่านธรรมชาติ การเปิดจุดผ่อนปรน การค้าชายแดน โดยเฉพาะจุดผ่อนปรนที่ไม่มีด่านควบคุมโรคกำกับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ต้องการใช้ พรก. ฉุกเฉิน ในเรื่องอื่น ๆ ทั้งสิ้น แต่มีเหตุผลความจำเป็น เป็นการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ วัตถุประสงค์เพื่อการรักษาชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด ฉะนั้น อย่าบิดเบือนเป็นอย่างอื่น พร้อมฝากให้ดูแลบุคลากรทางสาธารณสุขให้ดี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติการแพร่ระบาดสูงในปัจจุบัน และขอให้กรุงเทพมหานครดูแลการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย เน้นการรณรงค์ สื่อสาร สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งฝากให้ ศธ. และโรงเรียนพิจารณาหามาตรการที่ปลอดภัย ในการทำกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน และนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้ประชาชนคนไทยได้เกิดการเรียนรู้และสามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ในวิถีชีวิตปกติ และผ่านพ้นช่วงวิกฤตของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ย้ำว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ด้วยความร่วมมือของทุกคน ทุกภาคส่วน ในการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ