นายกฯ มุ่งประสานความร่วมมือกับ UNCTAD เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Tuesday July 19, 2022 13:56 —สำนักโฆษก

นายกฯ มุ่งประสานความร่วมมือกับ UNCTAD เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2565) เวลา 15.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (The United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ภายใต้ระเบียบวาระกระบวนการประเมินนโยบาย (Voluntary Peer Review) โดยสมัครใจของประเทศไทย ผ่านการบันทึกเทปวีดิทัศน์ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการเสวนากับผู้แทนจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกระบวนการประเมินนโยบายโดยสมัครใจของ ประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของรัฐบาลในการมุ่งพัฒนาประเทศและยกระดับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการยอมรับในเวทีสากล และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก และเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียที่ได้เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวของ UNCTAD โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวทางการทบทวนกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมของทั้งประเทศ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้ประเมินจากสวีเดน เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ที่ได้ร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระ สร้างสรรค์และเป็นกลาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก UNCTAD ทั้งนี้ กระบวนการประเมินนโยบายฯ ครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันจำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติที่เสนอให้รัฐสมาชิกและหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม และเข้าร่วมในข้อตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคี ตลอดจนข้อริเริ่มต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อประกอบการอนุวัติแนวปฏิบัติดังกล่าว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสและบทเรียนสำคัญสำหรับทุกรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งพัฒนาและกำหนดนโยบายใหม่ ๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เพื่อรับมือกับการดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม ป้องกันการบิดเบือนตลาด และส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวกับความปกติใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริโภคกับนักลงทุนในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิดฯ ในอีกทางหนึ่ง

นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงบทบาทสำคัญของหน่วยงานด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคของ UNCTAD ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้กรอบแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกหลายประเทศ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภคผ่านเครื่องมือเชิงนโยบายและความร่วมมือเชิงวิชาการต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือของ UNCTAD เพื่อยกระดับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่เดิม ให้มีความสอดคล้องทัดเทียมมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

โดยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินนโยบายฯ แล้ว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีแผนที่จะยกระดับเรื่องการระงับข้อพิพาทออนไลน์ตามที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้เมื่อปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในปีนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการความร่วมมือของ UNCTAD เรื่อง ?การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการค้าดิจิทัลและการระงับข้อพิพาทออนไลน์สำหรับผู้บริโภค เพื่อเป็นหนทางไปสู่การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์? ซึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์นั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของอาเซียนในการเร่งสร้างเครือข่ายระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์ให้ครอบคลุมทุกประเทศสมาชิกภายในปี ค.ศ. 2025 ตามแนวปฏิบัติอาเซียนว่าด้วยการระงับข้อพิพาทออนไลน์อีกด้วย

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกลุ่มเส้นทางสายไหมจีนและ UNCTAD สำหรับการสนับสนุนทางเทคนิคมาโดยตลอด และขอขอบคุณผู้ร่วมประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งสวีเดน สำนักงานอัยการกลางด้านคดีผู้บริโภคแห่งเม็กซิโก และคณะตุลาการผู้บริโภคแห่งชาติแอฟริกาใต้ พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมการเสวนาจะบรรลุวัตถุประสงค์ของกระบวนการประเมินนโยบายโดยสมัครใจของประเทศไทย และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

??????.
อนึ่ง การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค

ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2565 เป็นการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมกำหนดให้หัวหน้าคณะผู้แทนระดับหัวหน้าส่วนราชการขึ้นไป แถลงผลงานและรายงานความคืบหน้าในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกับ UNCTAD ซึ่งเมื่อปี 2558 สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติมอบหมายให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการทบทวนกฎหมายและนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติตามที่หน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิกได้ดำเนินการ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นเป็นการดำเนินการโดยความสมัครใจเข้ารับการประเมิน การประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมด้วย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอผลงานและรายงานความก้าวหน้าการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยต่อที่ประชุมฯ และได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการประเมินฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากสวีเดน เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ เป็นผู้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะด้วย ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชมการนำเสนอผลการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย และขอให้นำกรณีศึกษาของประเทศไทยไปพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคในกลุ่มประเทศสมาชิกทั่วโลกในระยะต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ