นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) เวลา 19.20 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้ชี้แจง ดังนี้
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร มีความคืบหน้าแล้ว 92% และพร้อมจะเปิดให้บริการบางช่วงแล้วในปลายปี 2565 รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน คาดว่าจะสามารถใช้บริการในเฟส 1 ได้ในปลายปี 2569 ซึ่งรถไฟมีประเภทที่แตกต่างกัน ทั้งรูปแบบ ระยะทาง และความเร็ว จึงไม่อยากให้นำมาเปรียบเทียบให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการบ้านเอื้ออาทรระยะที่ 5 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตยาได้ในปี 2565
นอกจาก 8 ปีที่รัฐบาลกู้เงินมาลงทุนมากที่สุดแล้ว ยังเป็น 8 ปีที่มีการชำระหนี้ในอดีตมากที่สุด นับตั้งแต่ช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภาครัฐได้มีการชำระหนี้สาธารณะไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมทั้งต้น เงินกู้ และดอกเบี้ย ถือเป็นยอดชำระหนี้ที่สูงที่สุดมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งในจำนวนนี้ได้รวมถึงหนี้ที่เกิดความเสียหายในกรณีก่อนหน้านั้นด้วยผ่านการชดเชยชดใช้ต่าง ๆ
กรณีข้อห่วงกังวลว่ารัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมาชำระหนี้นั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีศักยภาพในการชำระหนี้และยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว สถานะทางการคลังของประเทศยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งมีหลายสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้การยอมรับประเทศไทย เช่น Fitch S&P ที่ยังไม่เคยลดอันดับของประเทศไทย
กรณีหนี้ครัวเรือน ต้องแจกแจงตามประเภทของหนี้ด้วย โดยสัดส่วนหนี้ครัวต่อ GDP ในภาพรวม มีการปรับตัวลดลงที่ 89.2 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งได้มีมาตรการภาครัฐต่าง ๆ มากมายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย หนี้กลุ่มเปราะบาง โดยดำเนินการต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวฝากขอให้ ส.ส. ทุกคนให้ช่วยให้ข้อมูลการเข้าถึงช่องทางการบริการของภาครัฐแก่ประชาชนด้วย โดยในส่วนการแก้ไข พรบ. กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งที่รัฐบาลเสนอขึ้นไป นอกจากจะเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อนแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่สร้างความเป้นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันมากขึ้นด้วย ประเด็นสำคัญคือการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม ปรับปรุงงวดการชำระหนี้จากงวดปีเป็นงวดเดือน ขยายระยะเวลาผ่อนจาก 15 ปีเป็น 30 ปี กำหนดให้เมื่อผู้กู้ชำระหนี้ให้นำไปตัดเงินต้นเป็นอันดับแรกสุด ยกเลิกไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ กยศ. ดำเนินกิจการคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พรบ.ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ นายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ กยศ.
ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ จากโควิด-19 คาดการณ์ว่าทำให้คนจนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น 729 ล้านคน ในปี 2563 และ 736 ล้านคนในปี 2564 หรือมากกว่า 100 ล้านคนในช่วง 2563 และ 2564 เมื่อมีโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก มีสภาพยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 นั้นปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า มีจำนวนคนยากจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 6.2 ลดจากปีก่อนที่มีคนยากจน 4.8 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 6.83 แต่คำว่า ยากจน มีการอธิบายยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนจนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคือรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเข้าไปช่วย โดยให้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ครอบคลุมถึงร้อยละ 97.83 จากจำนวนคนจนทั้งหมดในปี 2564 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ประเทศจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อสามารถหาวิธีแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างสมบูรณ์ วันนี้ รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้ารายครัวเรือน ให้สามารถอยู่รอด อย่างเพียงพอ มีการจัดตั้งทีมพี่เลี้ยง โดยศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีคณะทำงาน และทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลและเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อรับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขตาม TP Map ที่ได้กำหนดไว้
ในส่วนของผลการดำเนินงานขจัดความยากจนระดับครัวเรือน ขอย้ำว่าดูแลทั้งหมดทั้ง 77 จังหวัด เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพนักงานในกระทรวงต้องร่วมมือกันในส่วนนี้ ซึ่งนั่นเป็นโมเดลที่เราคิดออกมาและเริ่มดำเนินการแล้ว และคิดว่าต้องทำต่อเนื่อง ขอบคุณทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน ใช้และปรับงบประมาณให้ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชน
ในด้านการเกษตร รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจฐานรากทุกจังหวัด ถือเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่คลอบคลุม 70,000 กว่าหมู่บ้าน 7,000 ตำบล 878 อำเภอ รวมกรุงเทพฯ โดยเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน หนี้สิน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้มาเรื่อย ๆ สร้างกลไกการทำงาน ความร่วมมือในทุกระดับ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ขอเพียงความร่วมมือและความเข้าใจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว รักษาเกียรติภูมิศักดิ์ศรีคนไทยมาเสมอ ใช้นโยบายการทูตเชิงรุก ด้วยความสมดุลให้ทุกฝ่ายยอมรับไทย โดยสรุปนายกรัฐมนตรีเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ 75 ครั้ง ให้การต้อนรับผู้นำต่างประเทศเยือนประเทศไทย 29 ครั้ง การเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกล 13 การประชุม มีโอกาสได้พบผู้นำประเทศทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ของไทยในการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลัก ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน SEP for SDGs โมเดลเศรษฐกิจ BCG การลดโลกร้อน การฟื้นฟูยุค Next Normal เป็นต้น พร้อมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ชวนทุกชาติให้เข้ามาลงทุน เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขยายผลการปฏิบัติต่าง ๆ ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย Thailand+1 หรือ +2 +3 นายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมระหว่างประเทศในหลายโอกาส นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสแลกเปลี่ยนการเยือน การประชุมร่วมกันกับประมุขรัฐและผู้นำรัฐบาล 120 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ 44 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลต่างประเทศ 129 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนต่างประเทศ 118 คณะ ในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย เมื่อปี 2559 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ คือ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย นำไปสู่การเข้าเฝ้าฯ พัฒนาความสัมพันธ์กับมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2562 และสามารถทำสำเร็จ กลับมามีความสัมพันธ์กันตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 ซึ่งมีความร่วมมือทั้งภาครัฐกับภาคเอกชน การเปิดการท่องเที่ยว การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร พลังงาน แรงงาน เป็นต้น
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการลงทุนในโครงการ 100% สิทธิประโยชน์ต้องเป็นของประเทศไทยตลอดเส้นทาง แต่ก็มีปัญหาพอสมควรเพราะประเทศจีนไม่ได้ดำเนินการแบบนี้กับประเทศไหน แต่ยอมให้ไทยทำ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับของประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า รถไฟของประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศนั้นๆ กับจีน โดยประเทศนั้นลงทุนร้อยละ 30 จีนลงทุนร้อยละ 70 รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีต้นทุนกิโลเมตรละ 358 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่ารถไฟสายที่ว่าซึ่งเป็นทางเดี่ยวและมีต้นทุนกิโลเมตรละ 480 ล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบแล้ว ไทยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เป็นทางคู่ และมีความเร็วที่ต่างกัน โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเชื่อมต่อไปยัง One belt one road และไปถึงยุโรปตะวันออกเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางของประเทศนั้น ไทยลงทุนเอง เพราะเราจะได้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศเองได้ มีอิสระในการกำหนดแผนการเดินรถ ไม่เสียสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ข้างทางรางรถไฟ บริหารจัดการได้เอง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทางรางอีกด้วย
กรณีเหมืองแร่อัครา กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะมีกระบวนการที่แตกต่างจากศาลอื่น ๆ ซึ่งมีการแนะนำให้มีการเจรจากันเพื่อทำความเข้าใจในแต่ละประเด็น โดยอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ จึงขอให้ระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งในขั้นแรกเป็นเรื่องเฉพาะของกระทรวงนั้น ๆ จึงถูกสั่งให้ระงับเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เรียบร้อย และขอให้ปรับปรุงในส่วนต่าง ๆ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีคำนึงถึงสุขภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ทุกอย่างทำตามระเบียบ ไม่นำงบประมาณมาใช้ส่วนตัวแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อกรณีดังกล่าวมีการร้องเรียน ก็ต้องดำเนินไปตามขั้นตอน และหากทำได้ตามระเบียบก็สามารถเปิดต่อได้ โดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของ Long Visa วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของประเทศไทย เพื่อผลดีต่อเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ท่องเที่ยว การซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เป็นผู้มีทักษะสูง เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ระยะเวลามาตรการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 การถือครองที่ดินนั้นเป็นมาตรการเพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ แต่ต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น นำเงินมาลงทุนในธุรกิจไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ต่อคนเพื่ออยู่อาศัย ส่วนการกังวลถึงการเสียพื้นที่ของไทย นายกรัฐมนตรีคิดว่ามีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว แต่ขอยกตัวอย่างว่าถ้า 5 ปีแล้วมีชาวต่างชาติมาตามเงื่อนไขดังกล่าว 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี ในที่ดินถือครองไม่เกิน 1 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของประเทศไทยทั้งหมด 320 ล้านไร่ และต้องเป็นพื้นที่ตามมาตรการเท่านั้น จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศอย่างน้อยในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท
ที่มา: http://www.thaigov.go.th