นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้ชี้แจงถึงกรณีเครื่องบินขับไล่โจมตี F16 และ F5 ที่ต้องปลดประจำการทั้งหมดเนื่องจากเกินอายุการใช้งาน โดยเครื่องบินดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานได้ถึงปี 2575 จึงต้องเริ่มวางแผนการจัดหา ซึ่งขณะนี้ได้มีการวางแผนการจัดหาแบ่งเป็น 3 ระยะ จำนวน 12 เครื่อง ครั้งละ 4 เครื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาการจัดหาถึง 10 ปี จึงจะครบตามความต้องการทางด้านยุทธการและสอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่จะทยอยปลดประจำการในปี 2575 โดยอาวุธในเครื่องบิน F35 สามารถใช้ได้กับ F16 รวมถึงได้มีการจัดหาเครื่องฝึกบินจำลองมาด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้งบประมาณในการฝึกบินได้ ทั้งนี้ สำหรับการใช้งานจริงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินไอพ่นในการลาดตระเวน แต่สามารถใช้เครื่องบินอื่นทดแทนได้ และในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องบิน F35 มากขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้งบประมาณในการซ่อมบำรุงลดลงด้วย สิ่งสำคัญจะต้องคำนึงถึงศักยภาพที่จะต้องเตรียมความพร้อมขีดความสามารถในด้านนี้ได้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และมีความพร้อมในทุกสถานการณ์
สำหรับกรณีปัญหาภายในของประเทศเมียนมา เป็นเรื่องของการต่อสู้ของรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาที่กำลังมีปัญหากันอยู่ ซึ่งชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของไทย ซึ่งก็ได้มีการดูแลเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีศูนย์อพยพอยู่หลายแห่ง รองรับผู้อพยพจำนวนหลายแสนคน ซึ่งเมื่อถึงเวลาเมื่อการสู้รบจบลงคนกลุ่มนี้ก็จะต้องเดินทางกลับประเทศ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ต้องหาทางแก้ไขในรูปแบบที่เป็นสากล ผ่านการพูดคุย เจรจา และการหารือร่วมกัน หากผลีผลามพลาดไปอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้เนื่องจากมีชายแดนติดกัน
จากข้อสงสัยในเรื่องของการขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกานั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การพิจารณาของสภาคองเกรสในการขายยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศพันธมิตรจะต้องมีการพิจารณาถึงความพร้อมของประเทศนั้น ๆ เช่น การรักษาความลับของเทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับด้านยุทโธปกรณ์ และสิ่งสำคัญคือความชัดเจนด้านงบประมาณ ซึ่งกองทัพอากาศได้ส่งหนังสือขอรับทราบราคาและระยะเวลาในการจัดหาไปยังสหรัฐอเมริกา ผ่านคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2564 และได้มีการดำเนินตามขั้นตอนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะผ่านการพิจารณาในต้นปี 2566 โดยได้ส่งหนังสือแจ้งความต้องการให้ทางสหรัฐอเมริกาสำหรับการพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการจัดหาด้วยวิธี Foreign Military Sales (FMS)
กรณีอากาศยานไร้คนขับประจำฐานทางการบินชายฝั่งของกองทัพเรือ ในส่วนของการจัดหา ได้มีการจัดหาตามความจำเป็น มีการคัดเลือกแบบยุทโธปกรณ์ ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการใช้อากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งจำนวน 1 ระบบ อย่างน้อย 3 เครื่อง ติดตั้ง ณ ฐานทัพเรือภาคต่าง ๆ เป็นวงเงินจำนวน 4,070 ล้านบาท ระยะเวลาเวลา 4 ปี (ปี 2565 -2568) โดยโครงการนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมประจำปีงบประมาณปี 2565 โดยคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) ได้จัดคณะกรรมการจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชนต่าง ๆ ให้เข้าร่วมสังเกตการดำเนินการและให้คำปรึกษาแนะนำตั้งแต่เริ่มจนจบโครงการ ทั้งนี้ ในส่วนของ TOR ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องซื้อจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หากคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไป ก็สามารถเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างได้
สำหรับสถิติการตกของเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งเป็นของ Starliner พัฒนามาจาก Hermes 900 เป็นไปตามความต้องการของกองทัพบกสวิตเซอร์แลนด์ มีรายงานอุบัติเหตุเครื่องบินตกจากการทดสอบด้วยความเร็วสูง ยังไม่มีรายงานปัญหาที่เกิดจากปัญหาเครื่องยนต์แต่ประการใด สิ่งสำคัญจึงต้องมีการฝึกฝนการบินหลายเดือนก่อนการใช้งานเครื่องบินใด ๆ ก็ตาม เพื่อความปลอดภัย และในส่วนของ UEV ที่ สทป. มีการวิจัยและพัฒนาร่วมกับประเทศจีนนั้น มีคุณสมบัติเฉพาะที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพเรือในขณะนี้ ตามที่ระบุไว้ใน TOR เพราะยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า ต้องเป็นไปตาม TOR กำหนดต้องมีเครื่องยนต์และตามสัญญาการเจรจากันมีการผูกสัญญาต้องใช้เครื่องยนต์จากเยอรมัน ซึ่งตอนนั้นไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ทางจีนจึงดำเนินการเจรจามาอย่างนั้นและเป็นไปตามความต้องการของเราจึงดำเนินการเซ็นสัญญาตามนั้น เมื่อเขาทำตามสัญญาไม่ได้ เราก็ไม่สามารถรับได้ ซึ่งเมื่อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ก็จะต้องแก้ไขปัญหากันตามกติกา TOR หรือตามสัญญาที่ตกลงกันไว้จะรับผิดชอบกันได้อย่างไร โดยต้องมีการหารือร่วมกันและยืนยันยังมีความต้องการอยู่ สำหรับในส่วนเรื่องของโรงซ่อมเรือ โรงจอดเรือเมื่อเดินหน้าไปแล้วก็ต้องดำเนินการต่อ ส่วนเรือดำน้ำจะมาเมื่อไรก็ต้องมีสถานที่จอดรองรับในเมื่อเรามีความสามารถหรือดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว จะมาหยุดดำเนินการนั้นไม่ใช่เหตุผล โดยเรือดำน้ำจำเป็นต้องมีแต่ขึ้นอยู่กับจะให้จัดซื้อได้เมื่อไร และอนุมัติเมื่อไร รวมถึงจะติดต่อเขาและจะจัดหาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามอะไรที่เราดำเนินการได้ก็ดำเนินการไปก่อน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องกองบินตำรวจ ในเรื่องของการใช้งบกลางและการดำเนินการต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีความผิดนั้น ได้สั่งคณะกรรมการให้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการยืนยันไม่ได้มีการปล่อยปะละเลยแต่อย่างใด แต่ส่วนที่ต้องใช้งบกลาง เนื่องจากไปเกี่ยวพันกับเรื่องทรัพย์สินของการบินไทยซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูที่มียอดหนี้อยู่ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วย ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้วว่าสามารถใช้งบกลางมาดำเนินการในส่วนนี้ได้เพื่อให้สถานการณ์ด้านการเงินของการบินไทยนั้นดีขึ้นในช่วงการฟื้นฟู
สำหรับเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยโดยเฮลิคอปเตอร์ราชพาหนะ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าให้ความสำคัญสูงสุด ต้องคัดเลือกนักบินที่ดีและทุกคนต้องมีความพร้อม ซึ่งนักบินมี 2 ประเภทที่อยู่ในกองบินตำรวจและนอกกองบินตำรวจ จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการตรวจร่างกายตามมาตรฐานการบิน รวมทั้งมีการตรวจสภาพอากาศยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จโดยอากาศนั้นจำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานและระมัดระวังอย่างที่สุด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงประเด็นด้านพลังงานว่า มีการทำงานร่วมกันหลายระดับทั้งอนุกรรมการ คณะกรรมการ เป็นไปตามขั้นตอน โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันของคณะทำงานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปริมาณไฟฟ้าสำรอง ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ค่าการกลั่น ค่าการตลาด การอ้างอิงราคาสิงคโปร์ โดยมีประเด็นที่จะย้ำในเรื่องพลังงานเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ 1. กรณีที่กล่าวว่าก๊าซในอ่าวแหล่งบงกช เอราวัณ ไม่สามารถผลิตได้เลย ในปัจจุบันนั้นการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดผลิตแต่อย่างใด โดยมีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างราบรื่น ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งระดับของกำลังการผลิตจะลดลงตามอายุการใช้งาน และในระยะยาวกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงเพิ่มเติม โดยการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ จำนวน 3 แปลง ในบริเวณทะเลอ่าวไทย ในปี 2565 มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร โดยคาดว่าจะได้ผู้รับสิทธิในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาก๊าซเพิ่มเติมจากประเทศเพื่อนบ้านในเวลาที่เหมาะสม 2. ประเด็นค่าการกลั่นและการขอรับสนับสนุนจากโรงกลั่น มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามตลาด ซึ่งค่าการกลั่นที่สูงอยู่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และช่วงนี้ทั้งค่าการกลั่นและราคาน้ำมันก็เริ่มลดลงแล้ว ส่วนการขอการสนับสนุนจากโรงกลั่นนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
3. ประเด็น LPG โดย LPG ที่จำหน่ายในภาคครัวเรือนและปิโตรเคมี ใช้ราคาในตลาดโลกเช่นเดียวกัน ตามโครงสร้างปัจจุบัน โรงแยกก๊าซส่งเงินส่วนต่างของราคาตลาดโลกกับต้นทุนโรงแยกที่กำกับโดยรัฐ เข้ากองทุนน้ำมันเพื่อดูแลราคา LPG ให้ประชาชน 4. ประเด็นการลงทุนของบริษัทในเครือ ปตท. เป็นการตัดสินใจในการลงทุนของบริษัทเอกชนที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีขั้นตอนในการพิจารณาตั้งแต่จากฝ่ายบริหาร กรรมการ รวมถึงผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติของบริษัทที่จะพิจารณาความเหมาะสมของการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือ เงินลงทุน 1.4 แสนล้าน เพื่อการลงทุนในบริษัท allnex ของ PTTGC เป็นเงินลงทุนของบริษัทเอกชน มิได้เป็นเงินภาษีหรือเงินแผ่นดินและไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีใน ครม. แต่อย่างใด ขอย้ำว่าอีกหลาย ๆ เรื่องที่สมาชิกได้อภิปรายมานั้นมีการชี้แจงผ่านสภาฯ หลายครั้ง อย่างต่อเนื่อง ทั้งการตอบกระทู้ต่าง ๆ และรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ก็ได้ชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงผ่านสื่อมวลชนแล้ว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th