วันนี้ (5 สิงหาคม 2565) เวลา 10.10 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด?อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)? โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ในวันนี้ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2608 ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทวีความรุนแรงมากขึ้นต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส
นายกรัฐมนตรีมองว่า ประชาคมโลกต้องเร่งยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลให้นานาประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการผลิตสินค้าอาจส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นที่ประชากรทั่วโลกจะประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร และภัยธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น World Economic Forum : WEF จึงได้กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระยะยาวของโลกที่มีแนวโน้มจะส่งผลต่อการดำเนินเศรษฐกิจระดับมหภาค
ที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้พยายามยกระดับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลงร้อยละ 45 ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ควบคู่กันไปอย่างสมดุล
ไทยรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกระทันหัน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ในปี 2564 ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด เป็นลำดับที่ 9 ของโลก ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมแล้วนับแสนล้านบาท ในวันนี้ ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ อย่างจริงจัง
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทต่าง ๆ ที่มุ่งสู่การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุม 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ (1) การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2) การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับตัวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่แสดงเจตนารมณ์ต่อ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC
ในทางเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ BCG Economy เป็นกลไกหลักสร้างความสมดุลของไทย ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้นำมาตรการการเงินสีเขียว มาผลักดันการลงทุนในนวัตกรรมและธุรกิจสีเขียว นอกจากนี้ ได้ปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เร่งการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญระดับโลก ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งภาคเอกชนปรับกระบวนทัศน์เพื่อมุ่งสู่การผลิตและการบริการที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำรับโอกาสทางธุรกิจ ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนบนฐานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจหลายองค์กร เริ่มปรับตัว ให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือ จากการทำฉลากคาร์บอน-ฟุตพริ้นท์ การลดและเลิกใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศในอุตสาหกรรมทำความเย็น และการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการก่อสร้างและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์คอนกรีต
นอกจากนั้น รัฐบาลมุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 เพื่อสร้างสมดุลในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และในปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บรรลุเป้าหมายการปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น ภายใต้โครงการ "รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน สืบสานสู่ 100 ล้านต้น" โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ขณะที่ภาคเอกชนก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มจากการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติทั้งระบบให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนแม่บท และแผนขับเคลื่อนในแต่ละสาขา รวมถึงนำร่องขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยมุ่งใช้จุดแข็งจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ให้ได้ ไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริง คือ ความมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในวันนี้ และชีวิตที่ดีของลูกหลานเราในวันข้างหน้า ตลอดจนเพื่อแสดงบทบาทและความรับผิดชอบในการร่วมแก้ไขปัญหานี้ที่เป็นวาระของโลก
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน สำหรับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมสร้างสภาพภูมิอากาศที่ดีของโลก โดยไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้เพื่อลูกหลานในอนาคต
และไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีกับไทยเสมอมา พร้อมชื่นชมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้จัดการประชุม TCAC ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเสริมสร้างพลังระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งประเทศ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero ภายในปี พ.ศ. 2608 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลของไทยและของโลกต่อไป
???????..
อนึ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดการประชุม TCAC ขึ้นระหว่างวันที่ 5 ? 6 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคท้องถิ่น รวมถึงจำลองรูปแบบการจัดประชุม COP โดยย่อส่วนการนำเสนอเป้าหมาย และทิศทางการทำงานที่ชัดเจนของแต่ละประเทศ มาเป็นแต่ละจังหวัดของประเทศไทย และเพื่อให้ประชาชน และกลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักรู้ มีความรู้ความเข้าใจ โดยนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำรูปแบบการจัดประชุม COP มาจัดในระดับประเทศ ภายใต้กิจกรรมสำคัญทั้งการเสวนาในประเด็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดแสดงนิทรรศการจากทุกภาคส่วน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th