นายกฯ หารือ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิด และมีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของนายกฯ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Wednesday August 10, 2022 14:40 —สำนักโฆษก

นายกฯ หารือ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิด และมีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของนายกฯ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จนเกิดผลเป็นรูปธรรม

วันนี้ (10 สิงหาคม 2565) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายไมเคิล ฮีธ (Mr. Michael Heath) อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับอุปทูตสหรัฐฯ อีกครั้ง พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีพลวัตเพิ่มมากขึ้นในทุกมิติ และมีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของอุปทูตสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในหลายมิติ โดยอุปทูตสหรัฐฯ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นอย่างดี ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่จะสานต่อภารกิจที่อุปทูตสหรัฐฯ ริเริ่มไว้ และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่อย่างเต็มที่

อุปทูตสหรัฐฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าพบ แม้จะมีภารกิจมาก ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน พร้อมชื่นชมนโยบาย และบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจในไทยยังคงสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ เป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่าจะมีบทบาทในการสานต่อและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยกับสหรัฐฯ มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า โดยเฉพาะการจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะช่วยกำหนดเป้าหมายและแนวทางความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอุปทูตสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น

ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรียินดีที่ประเทศได้รับการยกระดับขึ้นเป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2565 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ด้านอุปทูตสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จนเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งมั่นดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรียินดีที่สหรัฐฯ เพิ่มพูนบทบาทและปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ผ่านกลไกความร่วมมือที่มีอยู่และกลไกใหม่ที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้น อาทิ Mekong-US Partnership กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ด้านอุปทูตสหรัฐฯ ชื่นชมไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมมีบทบาทที่สร้างสรรค์ร่วมกับไทย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีฝากความปรารถนาดีถึงประธานาธิบดีไบเดน สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมหวังว่าจะมีโอกาสให้การต้อนรับประธานาธิบดีไบเดนในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2566 ต่อจากไทย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ